ยะลา - เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานประชุมพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระบุเตรียมพัฒนาความสามารถด้านภาษารับประชาคมอาเซียนปี 58 พร้อมดึง กศน.ช่วยสร้างอาชีพให้กับเด็ก อีกทั้งจะต้องเตรียมความพร้อมคน วัฒนธรรม เศรษฐกิจเพื่อรอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
วันนี้ (13 มี.ค.) ห้องอินทผาลัม 2 วิทยาลัยเทคนิคยะลา พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมหารือการพัฒนาการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายปรีชา เวชศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายพรชัย วุฒิเจริญมงคล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคยะลา ผู้แทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด (สช.) ผู้แทนศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 30 คนเข้าร่วมประชุม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการหารือ ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในพื้นที่ ศอ.บต.เองได้สนับสนุนโรงเรียนที่สอนสายสามัญในเรื่องของภาษา ในการจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนมีการพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา เพิ่มทักษะการสื่อสารในการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ซึ่งในวันนี้ได้เชิญผู้แทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด (สช.) มานั้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเด็กนักเรียนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในสังกัดของ สช.อาทิ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จึงอยากให้ช่วยกันระดมความคิดเห็น เป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาในด้านการศึกษาของเอกชน เป้าหมายหลักๆ คือ อยากให้มุ่งการพัฒนาไปยังบุคคล ไม่ใช่เพียงแต่วัตถุ
โดยอาจจะดูที่โครงสร้างพื้นฐานของของโรงเรียนปอเนาะว่าจะสามารถพัฒนาสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้อย่างไร อาจจะต้องเสริมสร้างในการเตรียมความพร้อมเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา และอยากให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในพื้นที่ช่วยดูแลเกี่ยวกับการสร้างอาชีพให้กับเด็ก โดยอาจจะหารือร่วมโรงเรียนปอเนาะในการประสานความมือกัน รวมไปถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในด้านการศึกษาระดับปริญญาตรี การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนอกจากภาษาแล้ว ต้องเตรียมความพร้อมคน วัฒนธรรม เศรษฐกิจอีกด้วย
การดึงอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมในพื้นที่ในการสร้างคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาทิ โรงพิมพ์เบนฮาลาบีเพลส เป็นโรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์คัมภีร์อัลกุรอานที่เก่าแก่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกรมศาสนาของประเทศมาเลเซีย ควรค่าแก่การอนุรักษ์มรดกด้านศาสนา ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนดูแล ถือเป็นความล้ำค่าในพื้นที่ของเรา
พร้อมทั้งอยากจะให้ตั้งศูนย์ข้อมูลส่วนกลางของสำนักงานการศึกษาเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และง่ายต่อการประสานงานในการทำกิจกรรมต่างๆ อาจจะเป็นทางด้านระบบไอที ทั้งนี้การพัฒนาด้านการศึกษาต่างๆ นั้นไม่ได้ซ้อนทับกับการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการแต่เป็นการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพราะการเรียนรู้และการศึกษาเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น