xs
xsm
sm
md
lg

ระกำพันธุ์เขาแก้ว ระกำรสดี หนึ่งเดียวที่ ต.ทุ่งค่าย จ.ตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ระกำหวาน พันธุ์เขาแก้ว ต.ทุ่งค่าย จ.ตรัง ระกำแหล่งดั่งเดิมรสชาติดีที่สุดในปฐพี ซึ่งมีปลูกอยู่เพียงแค่ตำบลเดียวของตรัง ได้รับความนิยมสูงมากจนผลิตไม่ทัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเดือนละไม่น้อยกว่า 3,000 บาท วอนนักวิชาการเร่งพัฒนาองค์ความรู้การเพาะปลูก

วันนี้ (13 มี.ค.) นายฉิด ขันแก้ว ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กล่าวว่า ตำบลทุ่งค่าย ถือเป็นพื้นที่แห่งเดียวของจังหวัดตรัง ที่สามารถปลูกระกำหวาน พันธุ์เขาแก้ว ได้มีรสชาติดีที่สุด ถึงแม้จะเคยมีผู้นำต้นพันธุ์ไปปลูกยังพื้นที่อื่น แต่รสชาติที่ออกมากลับสู้ไม่ได้ จึงทำให้ระกำหวาน ตำบลทุ่งค่าย เป็นสินค้าอันขึ้นชื่อจนผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากเป็นการปลูกในลักษณะแซมต้นยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน หรือบริเวณพื้นที่ว่างหลังบ้าน โดยเฉพาะในบริเวณหมู่ที่ 1 บ้านทุ่งไหม้ และหมู่ที่ 4 บ้านเขาไม้แก้ว รวมประมาณ 40 ครัวเรือน จากเดิมที่ในอดีตเคยมีการปลูกกันเป็นจำนวนมากถึง 200 ครัวเรือน

สำหรับความโดดเด่นของระกำหวาน ตำบลทุ่งค่าย ที่มีความแตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ก็คือ มีรสหวานอมเปรี้ยว และจะมีผลผลิตออกมามากในช่วงเข้าสู่หน้าร้อน คือ เดือนมกราคม ไปจนถึงช่วงเข้าสู่หน้าฝน คือ เดือนพฤษภาคม โดยระกำหวานที่ปลูกด้วยการเพาะชำเมล็ดจากต้นพ่อแม่พันธุ์ หลังจากใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี ก็จะเริ่มออกดอก รอจนกระทั่งติดผลขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพด ให้นำกระสอบปุ๋ยมาห่อไว้ เพื่อป้องกันศัตรูพืช เช่น แมลงวันทอง มด หนู เมื่อผ่านพ้นไปประมาณ 4 เดือน ระกำหวานเริ่มมีผลแก่จัด และมีกลิ่นหอมออกมา หลังจากนั้น ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผลก็จะสุกหวาน สามารถตัดไปรับประทานได้

นายประจวบ นวลมะโน อยู่บ้านเลขที่ 26/1 หมู่ที่ 4 บ้านเขาไม้แก้ว หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกระกำหวาน ตำบลทุ่งค่าย เล่าว่า ตนใช้พื้นที่ว่างปลูกไม้ผลชนิดนี้ลงไปประมาณ 30 ต้น จนขณะนี้ให้ผลผลิตแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยนำระกำหวานไปขายยังตลาดของชุมชน และมีผู้เข้ามาซื้อถึงบ้าน ในราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเดือนละไม่น้อยกว่า 3,000 บาท ขณะที่การดูแลบำรุงรักษาก็ง่าย เพียงแค่ใส่ปุ๋ยชีวภาพปีละ 1 ครั้งๆ ละ 2 กิโลกรัม พร้อมกับทำการตกแต่งทางใบที่เหี่ยวแล้วออกไปเท่านั้น ส่วนปัญหามีอยู่ 2 อย่าง ก็คือ บางครั้งอาจเจอต้นที่ไม่ออกผลผลิต และการขยายพันธุ์ที่ได้ด้วยเมล็ดเท่านั้น

“เนื่องจากระกำหวาน ก็มีลักษณะคล้ายๆ กับปาล์มน้ำมัน โดยขณะที่ต้นยังเล็ก จะไม่สามารถมองออกว่า เป็นต้นผู้ หรือต้นเมีย กว่าจะรู้ก็ปาไปถึง 3-4 ปีแล้ว ทำให้ต้องมาโค่นทิ้งและปลูกใหม่ จึงอยากได้นักวิชาการมาช่วยชี้แนะเพื่อแก้ปัญหานี้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลา ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การขยายพันธุ์ยังคงใช้วิธีการเพาะชำเมล็ด ซึ่งหากต้องนำไปปลูกมากๆ ทำให้ต้องใช้เวลานาน จึงอยากให้หน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง มาดำเนินการขยายพันธุ์ระกำหวาน โดยการใช้เนื้อเยื่อ ซึ่งจะส่งผลให้มีการปลูกอย่างกว้างขวางมากขึ้น มิเช่นนั้น ก็เกรงว่าไม้ผลท้องถิ่นชนิดนี้จะสูญหายไป หากไม่มีการเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจังในอนาคต”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น