นราธิวาส - นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ชี้โอกาสทางการค้าของผลไม้ในจังหวัดนราธิวาสยังมีสูง แต่ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้ชัดเจน พัฒนาคุณภาพผลผลิต แนะเกษตรกรตั้งกลุ่มส่งต่อพ่อค้า เชื่อภายใน 5 ปี เห็นผล อย่ามัวหวังความช่วยเหลือลมๆ แล้งๆ จากรัฐบาล เบื้องต้นต้องยืนด้วยขาของตัวเองก่อน
นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวภายหลังการเข้าร่วมเสวนาโครงการ นานาทรรศนะ สู่ฝัน สันติสุข หัวข้อเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส สู่ AEC ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนราธิวาส ที่โรงแรมเก็นติ้ง อ.สุไหงโก-ลก ว่า โอกาสทางเศรษฐกิจของจังหวัดนราธิวาสมีสูงมาก เพราะมียุทธศาสตร์และยุทธภูมิที่ได้เปรียบในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตรเกี่ยวกับผลไม้ เพราะสามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิต ซึ่งในพื้นที่มี ลองกอง ทุเรียน เงาะ มังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ในถิ่นอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หากมีความพร้อมก็ดำเนินการพัฒนาได้ทันที แต่ก่อนจะขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จังหวัดนราธิวาสต้องมียุทธศาสตร์จังหวัดที่ชัดเจน ว่าต้องการพัฒนาผลผลิตตัวใด เพราะที่ผ่านมา ภาคราชการจะจัดสรรงบประมาณกระจายไปในหลายส่วน เช่น มีงบประมาณ 100 บาท แต่ภารกิจที่ต้องใช้ในส่วนต่างๆ จำเป็นต้องมีงบประมาณสูงถึง 3,000 บาท เมื่อจัดสรรไปแล้วจึงต้องเฉลี่ยให้ จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดนี้ทำให้ใช้เงินอย่างจำกัด เมื่อเงินหมดกลับไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม
ดังนั้น จึงควรปรับวิธีคิดใหม่ ยุทธศาสตร์จังหวัดหากเป็นด้านการเกษตรก็มุ่งพัฒนาเรื่องใดก็ให้เป็นเรื่องเดียว แล้วเดินหน้าใช้ความจริงใจ เรียกความศรัทธาจากประชาชนในท้องถิ่น บริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นโดยบุคคลในท้องถิ่น เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้เดินต่อเองได้เมื่อหมดงบประมาณจากส่วนราชการ
ทั้งนี้ จากการอยู่ในตลาดค้าผลไม้ทั้งในระดับประเทศ และการมองตลาดในต่างประเทศ เชื่อว่าหากผลไม้ในพื้นที่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ ตรงตามที่ตลาดต้องการก็สามารถกระจายผลผลิตออกไปในตลาดทั่วโลกได้อย่างไม่มีขีดจำกัด โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พร้อมกันนี้ อยากแนะนำไปถึงเกษตรกรในพื้นที่ว่า ควรตั้งกลุ่มเล็กๆ ของตนเองเป็นกลุ่มลองกอง กลุ่มมังคุด กลุ่มเงาะ กลุ่มทุเรียน หรือผลผลิตประเภทอื่นๆ ทำผลผลิตให้คุณภาพ แล้วไปหาพ่อค้ามารับซื้อในกลุ่มนี้ พัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ภายใน 5 ปีจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่หากยังรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวจะทำให้การพัฒนาทุกอย่างหยุดชะงัก เพราะรัฐไม่สามารถส่งงบประมาณมาสนับสนุนได้อย่างทั่วถึง และต่อเนื่อง เบื้องต้นจึงควรยืนด้วยขาของตนเอง ภายใต้การจัดกลุ่มภายในท้องถิ่นของตนเองก่อน
ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือจากภาครัฐต้องเป็นลักษณะยุทธศาสตร์พาเขาเดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถต่อยอดไปเองได้ หลังจากรับการช่วยเหลือของภาครัฐไปแล้วในระยะหนึ่ง