ยะลา - ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีลดลง ส่งผลให้ “บึงแบเมาะ” เนื้อที่กว่า 300 ไร่ น้ำแห้งขอด เชื่อปีนี้ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของทางเทศบาลนครยะลาได้
วันนี้ (3 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลา ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ซึ่งไหลมาจาก เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ผ่าน อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.เมืองยะลา ไปจนถึงเขื่อนชลประทานปัตตานี ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีระดับน้ำในแม่น้ำลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำในบึงแบเมาะ พื้นที่ ม.3 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา มีสภาพแห้งขอด จนชาวบ้านสามารถลงไปจับปลาได้
ทั้งนี้ บึงแบเมาะ เป็นบึงกักเก็บน้ำที่มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ พื้นที่ติดต่อระหว่าง ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา และ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งเมื่อก่อนเป็นบึงน้ำธรรมชาติ แต่ทางเทศบาลนครยะลาได้มีการจัดบริหารพื้นที่เพื่อรองรับปัญหาอุทกภัย ได้มีการขุดลอกบริเวณโดยรอบบึงจนกลายเป็นบึงขนาดใหญ่ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใกล้ตัวเมือง
ซึ่งจากการตรวจสอบระดับน้ำ โดยมีรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการจัดสรรน้ำ สำนักอุทกวิทยา และบริหารน้ำ กรมชลประทาน ซึ่งได้รับรายงานระดับน้ำจากเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ล่าสุด วันนี้ 3 มีนาคม 57 มีระดับน้ำในเขื่อนบางลางอยู่ที่ 1,010 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณสูงสุดที่เขื่อนบางลางสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ที่ 1,674 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงวันเวลาเดียวกัน ที่มีระดับต่ำกว่าอยู่ที่ 959 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลนครยะลา ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ที่ประตูน้ำบึงแบเมาะ อย่างเร่งด่วนแล้ว ขณะเดียวกัน ปัญหาความแล้งที่ทำให้ระดับน้ำในแม่นำปัตตานีลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งระดับน้ำที่ต่ำลงทำให้หัวสูบน้ำไม่สามารถดำเนินการสูบน้ำมาผลิตน้ำประปาได้ในบางวัน ทางเทศบาลนครยะลา ได้ให้เจ้าหน้าที่กองการช่าง ดำเนินการแก้ไข และแจ้งข่าวไปยังประชาชนในเขตเทศบาลนครยะลา ที่ใช้น้ำประปาให้มีการเตรียมภาชนะรองรับน้ำไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคาดว่าปีนี้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในระยะยาว
ขณะที่พื้นที่การเกษตรใน จ.ยะลา ทั้งที่ อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.กาบัง และ อ.รามัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่เชิงเขา มีภูเขาสูง การเกษตรทั้งสวนยางพารา สวนผลไม้ ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้เกษตรกรบางรายต้องทำการบริหารจัดการน้ำภายในสวนของตนเองด้วยการวางระบบท่อน้ำ และอาศัยประปาภูเขาจากแห่งน้ำธรรมชาติที่พอจะหาได้ แต่เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นก็ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดไปตามๆ กัน