xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวตรัง “แลลูกลม ชมถ้ำช้างหาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แลลูกลม ชมถ้ำช้างหาย” เทศกาลช่วงเกี่ยวข้าว ที่ อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทางธรรมชาติ มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ตระการตากับถ้ำน้อยใหญ่ถึง 9 ถ้ำ ที่ “ถ้ำช้างหาย” ชมการละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนาน คือ การเล่น “ลูกลม” ภูมิปัญญาถิ่น

 
อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ถือเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่สูง โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวอย่าง “ถ้ำเขาช้างหาย” ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก เนื่องจากภายในมีถ้ำใหญ่น้อยอยู่จำนวนถึง 9 ถ้ำ นอกจากนั้น ยังเป็นอำเภอที่ยังคงมีการทำนาปลูกข้าวมากที่สุด และเป็นช่วงที่กำลังออกรวงสุกเหลืองอร่ามด้วย จึงทำให้บรรยากาศโดยรอบมีความโดดเด่นอย่างมาก

 
ที่สำคัญก็คือ อำเภอแห่งนี้ ยังคงมีการเล่น “ลูกลม” หรือ “กังหันลม” ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีการสืบต่อมายาวนาน จนถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยแท้จริง โดยเฉพาะระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีกระแสลมค่อนข้างแรง จนก่อให้เกิดความสนุกสนานของกลุ่มชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม “เที่ยวตรัง แลลูกลม ชมถ้ำช้างหาย” ขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 16 ปีแล้ว

 
โดยได้มีการเลือกพื้นที่โล่งบริเวณหน้า “ถ้ำเขาช้างหาย” เป็นจุดอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อจัดกิจกรรมฟังเสียงร้องหวีดหวิวของ “ลูกลม” ที่ดังกึกก้องทั่วท้องทุ่ง กว่า 100 ดอก พร้อมกับรับลมชมวิวในนาข้าว และชมความงามที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้างประติมากรรมอันวิจิตรตระการตาเกินกว่าคำบรรยาย ท่ามกลางหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ

 
ประวัติความเป็นมาของ “ลูกลม” ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาบอกว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนสวรรค์ ในครอบครัวเล็กๆ ของ “พระพาย” โดยวันหนึ่งเป็นฤดูที่เก็บข้าว (เกี่ยวข้าว) ได้มีนกลา นกไผ นกเสียด นกกระจาบ และนกกาอื่นๆ ออกมามากินข้าว แต่เนื่องจาก “พระพาย” ไม่มีเวลาโห่นกไล่กาทุกวัน เพราะต้องไปอยู่เวรพัดลมทำความเย็นให้เทวดา ดังนั้น จึงมอบให้ “ลูกลม” ซึ่งเป็นลูกชายช่วยทำหน้าที่ดูแลนาข้าวแทน

“ลูกลม” จึงได้ไปตัดไม้ไผ่ แล้วเหลาให้แบน แต่บิดเบี้ยวๆ ก่อนคาดเป็นกากบาททับกันหลายๆ อัน เพื่อดักลมให้หมุนไปมาซ้ายขวาได้ โดยเมื่อไม้ดังกล่าวโต้ลม ก็จะหมุนคล้ายกับกังหันวิดน้ำ และมีเสียงดัง ทำให้นกกาเกิดความกลัว ไม่กล้าบินลงมากินข้าวที่ปลูกเอาไว้ เมื่อ “พระพาย” กลับจากเข้าเวร เห็นลูกชายทำอะไรแปลกๆ ด้วยการเอาไม้มาดักลม แต่มีเสียงไพเราะน่าฟัง จึงแสดงความพอใจอย่างมาก

 
ดังนั้น ในวันต่อมา เมื่อ “พระพาย” ต้องไปเข้าเวรพัดลม จึงถือโอกาสบอกผลงานของลูกชายให้เทวดารับทราบ ซึ่งก็ได้แสดงความชื่นชม และแสดงความยินดีในความเฉลียวฉลาด พร้อมเห็นสมควรที่จะเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ลงไปยังโลกมนุษย์ จึงได้เรียก “เวศหนู” ซึ่งเป็นทหารเอกมาเข้าเฝ้า เพื่อบัญชาให้นำเรื่องของ “ลูกลม” ไปทำการบอกกล่าว จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่มวลมนุษย์นับตั้งแต่นั้นมา

 
ทั้งนี้ จะมีการนิยมเล่น “ลูกลม” ในฤดูเกี่ยวข้าว โดยเฉพาะทางภาคใต้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีลมพัดแรง ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ “ตำบลนาหมื่นศรี” ซึ่งมีการทำนาปลูกข้าวมายาวนานแล้ว ก็ช่วยกันสืบทอดการละเล่นดังกล่าวมาถึงทุกวันนี้ จนเหลือเพียงแห่งเดียวของจังหวัดตรัง ด้วยการนำไปเสียบผูกไว้บนยอดไม้สูงๆ เพื่อให้สามารถรับลมได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้หมุน และส่งเสียงร้องได้ยินไปไกล

 
สำหรับ “ลูกลม” ที่ถือว่าไพเราะ จะต้องมีเสียงกลม และมีใยเสียง โดยชาวบ้านมองว่าการละเล่นชนิดนี้ ถือเป็นการพักผ่อน หรือนันทนาการอย่างหนึ่ง จึงหาวิธีการทำให้คงทน และเสียงดี ก่อเกิดความคิดประดิษฐ์ออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่สวยงาม และใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน โดยเฉพาะการแข่งขันวิ่ง “ลูกลม” นับเป็นกีฬา และการออกกำลังกาย ซึ่งได้ทั้งความสนุกสนาน และความสามัคคีของชุมชน





เรื่อง/ภาพ โดย เมธี เมืองแก้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น