xs
xsm
sm
md
lg

“ศิษย์เก่าวลัยลักษณ์” จี้อธิการฯ เร่งสางปมไร่แตงโมโผล่กลางมหาวิทยาลัยหลายสิบแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - เครือข่ายศิษย์เก่า และนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดี เรียกร้องให้มีการตรวจสอบไร่แตงโมจำนวนมากที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย หลังพบเสี่ยงต่อการทำลายผืนป่าพื้นถิ่นที่มีการวิจัย และอาจกระทบต่ออาณาบริเวณที่ยังไม่ได้มีการสำรวจของโบราณสถานตูมปังที่มีอายุกว่า 1 พันปี

เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายศิษย์เก่า นักศึกษา บุคลากร อาจารย์ และประชาชน นำโดยนายทรงวุฒิ พัฒแก้ว และศิษย์เก่า นักศึกษารวมทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัยหลายราย ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวนมากในการทำไร่แตงโมในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากหลายฝ่ายวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อผืนป่าพื้นถิ่น จำนวน 35 ผืน ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่ผ่านการวิจัยแล้วพบว่า มีพันธุ์ไม้เด่นถึง 235 ชนิด รวมทั้งมีความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มสัตว์พื้นเมือง และพบแล้วว่า มีการแผ้วถางพื้นที่ใหม่หลายจุด รวมแปลงไร่แตงโมไม่น้อยกว่า 1 พันไร่แล้ว โดยให้มีการตรวจสอบว่ามีกระบวนการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกต่อหน้า ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และทีมบริหาร ความว่า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการถางป่าไถที่ดินเพื่อทำไร่แตงโม ทั้งที่พื้นที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของพรรณไม้ ซึ่งปรากฏในรายงานการวิจัย ในหัวข้อ พรรณไม้ในพื้นที่เขตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี 2541 โดย ผศ.มารวย เมฆานวกุล พบข้อมูลสำคัญว่า มีผืนป่าทั้งสิ้น 35 ผืน มีพรรณไม้เด่นอยู่ถึง 235 ชนิด 193 สกุล และ 88 วงศ์ และในจำนวนนี้มีหลายชนิดเป็นพันธุ์ไม้หายาก ซึ่งผืนป่าที่ปรากฏนั้นคาดว่าจะเป็นผืนป่าพื้นถิ่นดั้งเดิมผืนสุดท้ายของท่าศาลาเพื่อทำไร่แตงโมในมหาวิทยาลัย ทำให้ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย และเกิดความวิตกกังวล เบื้องต้นนั้นประเมินด้วยสายตามีพื้นที่ทำไร่แตงโมไปแล้วกว่า 1 พันไร่ โดยหลักการที่ถูกต้องนั้น การเข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดินต้องมีที่มาที่ไป โครงการ แผนงานขั้นตอนที่ชัดเจน

“ดังนั้น จึงเกิดคำถามคือ 1.เนื้อที่ทั้งหมดกี่แปลง กี่ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์เป็นใคร จำนวนเท่าใด 2.การใช้ที่ดินมีขั้นตอนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และผู้อนุมัติ หรือคณะกรรมการในการกำกับดูแล 3.พื้นที่ที่ถูกไถทับซ้อนกับผืนป่าในงานวิจัยของ ผศ.ดร.มารวย จำนวนเท่าใด 4.มีเงินหรืองบประมาณเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ 5.หากพบความเสียหายที่เกิดขึ้นผู้บริหารควรดำเนินการทั้งทางแพ่ง และอาญา 6.และขอให้อธิการดีตอบ และชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเวลา 1 สัปดาห์” นายทรงวุฒิระบุในการอ่านจดหมายเปิดผนึก

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่ายังไม่สามารถชี้แจงได้ด้วยวาจา แต่จะขอเวลาในการตรวจสอบพร้อมทั้งจะชี้แจงอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของมหาวิทยาลัยที่เข้ามาทำกินในพื้นที่อยู่ด้วย ซึ่งจะได้มีการแจกแจงรายละเอียดอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการสำรวจของเครือข่าย และผู้สื่อข่าวยังพบอีกว่ามีการทำไร่แตงโมใกล้กับแหล่งน้ำผลิตน้ำประปาอุปโภคบริโภคในมหาวิทยาลัยทั้งระบบ พบว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมากอาจส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อน และบางจุดมีการปรับพื้นที่ใกล้กับแนวโบราณสถานตูมปังที่มีอายุกว่า 1 พันปี โดยบางแนวยังไม่ได้มีการขุดสำรวจทางโบราณคดีเกรงว่าจะได้รับความเสียหายเกิดขึ้นได้ และอาจมีการประสานงานกับสำนักศิลปากร 14 นครศรีธรรมราช เข้าทำการตรวจสอบอีกครั้ง



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น