xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ ม.วลัยลักษณ์ แจงเหตุร้องเรียนบุกรุกโค่นป่าปลูกแตงโมกว่า 100 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นครศรีธรรมราช - อธิการ ม.วลัยลักษณ์ชี้แจงเหตุใช่พื้นที่มหาวิทยาลัยปลูกแตงโมง เผยเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้มีที่ดินทำกิน เป็นโครงการที่ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมศิษย์เก่าทบทวนมาตรการการใช้ที่ดินในอนาคต

เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ออกเอกสารเปิดผนึกชี้แจงถึงกรณีมีสมาคมศิษย์เก่า นักศึกษา และประชาชนเข้าร้องเรียนการใช้พื้นที่ทำกินในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกแตงโม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

“ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ชี้แจงถึงกรณีพื้นที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยถัดจากอาคารศูนย์วิจัยวิทยาการสุขภาพที่มีประเด็นเป็นการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกแตงโมว่าเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการเตรียมการสำหรับการสร้างโรงพยาบาล โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 250 ไร่ และขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ติดตั้งป้ายโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์เรียบร้อยแล้ว(http://www.wu.ac.th/th/news/4509)

สำหรับกรณีการปลูกแตงโมในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมาก่อน ทั้งนี้ ในโครงการแรกเริ่มมีการดำเนินการในพื้นที่ Zone 4 (พื้นที่ข้างโบราณสถานตูมปัง ตรงข้ามศูนย์กีฬาและสุขภาพ) ต่อมา ได้มีการขยายพื้นที่ต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องทำบันทึกการขอใช้พื้นที่กับทางผู้จัดการชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา และจ่ายเงินเป็นค่าไฟฟ้าไร่ละ 50 บาทต่อปี ปัจจุบันมีสมาชิกชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา จำนวน 25 ราย ขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเพาะปลูกพืชระยะสั้น

ทั้งนี้ จากปัญหาการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่ม ซึ่งเป็นประเด็นให้เกิดข้อถกเถียง และทักท้วงจากทางศิษย์เก่า เบื้องต้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และทางผู้บริหารยอมรับถึงจุดอ่อนในการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึง และกำหนดแนวทางการดำเนินการต่อไปดังนี้

1.มหาวิทยาลัยจะดำเนินการควบคุมไม่ให้มีการขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกแตงโม หรือพืชระยะสั้นอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาลดพื้นที่ในการเพาะปลูกดังกล่าวด้วย ซึ่งทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยต้องขอขอบคุณศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ห่วงใยถึงประเด็นที่เกิดขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันติดตามในเรื่องนี้

2.ประเด็นด้านพื้นที่ที่ดำเนินการเพาะปลูกในขณะนี้ ด้วยผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ได้มีการลงทุนในการดำเนินการเพาะปลูกไปแล้ว หากมีการสั่งให้หยุดดำเนินการโดยทันทีจะทำให้เกิดภาระด้านต้นทุน หรือหนี้สินเกิดขึ้นแก่สมาชิกชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาที่มาใช้พื้นที่อันเป็นปัญหาต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น ผู้บริหารจึงได้มีมติร่วมกันว่า ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะอนุโลมให้ผู้ที่ใช้ประโยชน์ดำเนินการต่อไปได้จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต และหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว มหาวิทยาลัยจะดำเนินการทบทวนการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสมต่อไปโดยทันที

3.สำหรับแนวทางในทบทวนการใช้ประโยชน์พื้นที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า บุคลากร และผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อกำหนดแนวทางการใช้พื้นที่สำหรับการบรรเทาทุกข์สมาชิกชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ที่มีการปลูกไปแล้ว”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น