xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ จัดเสวนา “11 ปี คดีท่อก๊าซไทย-มาเลย์” ความรุนแรงยังคงอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ ร่วมกับเครือข่าย จัดเสวนาหัวข้อ “11 ปี คดีท่อก๊าซฯ จะนะ ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่” สะท้อนความจริงจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชาชน พร้อมทั้งการต่อสู้คดีกว่า 10 ปีของผู้ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (11 ก.พ.) เวลา 13.00 น. ที่บริเวณใต้ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “11 ปี คดีท่อก๊าซฯ จะนะ ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่” ซึ่งจัดโดยสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวันศุกร์ ศูนย์ชุมชนข้อมูล ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านจากมหาวิทยาลัยบ้านลานหอยเสียบ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีนักศึกษา ชาวบ้าน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ซึ่งกิจกรรมในช่วงแรกมีการจัดนิทรรศการนำเสนอเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลจะนะ กับความเป็นมาในการต่อสู้ของชุมชน มีการฉายวิดีทัศน์การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้แก่ผู้เข้าร่วมได้รับชม จากนั้นมีการเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ส่งผลให้ประชาชนผู้ชุมนุมซึ่งชุมนุมโดยสงบ สันติวิธี ปราศจากอาวุธได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถึงแม้เหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมจะผ่านไปแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ยังคงเหลือร่องรอยของความรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งในปัจจุบันนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา

ในเวทีเสวนามีผู้ร่วมเสวนาคือ 1.คุณสุไลมาน หมัดยุโซ๊ะ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม 2.คุณสุรชัย ตรงงาม ทนายความ 3.คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลชุมชน และ 4.ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.ธัญรดี ทวีกาญจน์

นายสุไลมาน หมัดยุโซ๊ะ กล่าวว่า ในฐานะประชาชนในพื้นที่ซึ่งคัดค้านโครงการสร้างท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย หากปล่อยให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น สังคมไทยทั้งประเทศจะต้องเผชิญกับมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลควรเคารพต่อสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดโดยประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ มิใช่ให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

“อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการจัดสร้างท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้อง เช่น จัดทำประชาพิจารณ์เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้าน ไม่สำรวจผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกทั้งรัฐบาลดำเนินการเซ็นสัญญากับมาเลเซียก่อนที่จะจัดประชาพิจารณ์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง” นายสุไลมาน กล่าว

ด้าน นายประสาท มีแต้ม กล่าวว่า นอกจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมของตำรวจต่อผู้ชุมนุม ซึ่งชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ จะเป็นการใช้ความรุนแรงแล้ว การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร การบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำประชาพิจารณ์โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายถือเป็นการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในด้าน “สิทธิชุมชน” ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญอย่างยิ่ง

ด้าน คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนทนายความกล่าวว่า นอกจากการต่อสู้ของภาคประชาชนแล้ว ประชาชนยังถูกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการชุมนุม โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง จากวันที่ถูกฟ้องคดีจนถึงวันนี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา แต่ที่น่าสังเกตในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่เนื่องจากอัยการใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดียังไม่เป็นที่ยุติ

“นับจากที่ถูกฟ้องคดี ประชาชนได้รับความลำบากมาก จะต้องมาสืบพยานทุกนัด เสียทั้งเวลา และค่าใช่จ่ายในการดำเนินคดี จนปัจจุบันนี้กว่า 10 ปีแล้ว คดียังไม่จบ จึงถือว่าถึงแม้ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมจะผ่านไปนานแล้ว แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นปัจจุบันเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นจึงถือว่าความรุนแรงที่ประชาชนได้รับจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วยังคงอยู่” คุณ ส.รัตนมณี กล่าว

ทั้งนี้ คุณ ส.รัตนมณี กล่าวเสริมว่า “ในคำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ระบุอย่างชัดเจนว่า การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งประชาชนสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น