xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จัดโครงการ “ชื่อบ้านในความทรงจำ” แก่ 10 หมู่บ้านนำร่องในปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ชาวบ้าน 10 หมู่บ้าน ใน 3 จชต.เฮ! หลัง ศอ.บต.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนโครงการ “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านนำร่อง 10 หมู่บ้าน ตามความต้องการของคนในชุมชน เพื่อสื่อถึงที่มาที่ไป วัฒนธรรมเก่าแก่ของแต่ละหมู่บ้านให้ลูกหลานได้รับรู้สืบไป

วันนี้ (8 ก.พ.) ที่หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางเป็นประธานงานมหกรรมเฉลิมฉลอง “ชื่อบ้านในความทรงจำ” หรืองาน “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” โดยมี ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขา ศอ.บต. Mr.Kim Mc Quay (มิสเตอร์คิม แมคเควย์) ผู้แทนจากมูลนิธิเอเชียแห่งประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์อิสมาอีล เบ็ญจสมิท หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้นำศาสนา ประชาชน เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โดยภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดพลวัต และการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การย้ายถิ่นที่ตั้ง การสูญหาย และการเกิดขึ้นใหม่ของชุมชน หรือหมู่บ้านต่างๆ การเปลี่ยนชื่อเรียกของหมู่บ้านทำให้ชื่อเรียกของหลายหมู่บ้านเพี้ยนไปจากเดิมส่ง ผลให้ชื่อเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายสื่อถึงเรื่องราว หรือที่มาของหมู่บ้าน หรือชุมชนนั้นๆ อยู่เลย การขาดหายไปของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของชื่อหมู่บ้านทำให้คนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้ศึกษารากเหง้าความเป็นมาของตัวเอง เป็นผลให้เยาวชนรุ่นหลังขาดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของบรรพชน

ในการนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” โดยได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการ และทำประชาคมร่วมกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ถึงความต้องการในการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เพื่อสอดรับกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 9 คือ การเสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย

ซึ่งโครงการวิจัยฯ เพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ด้านภาษาและประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการศึกษาชื่อหมู่บ้าน และเพื่อธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ด้านภาษา และประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยเน้นความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องผ่านเวทีประชาคม โดยมี 10 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นหมู่บ้านนำร่อง ได้แก่

- หมู่บ้านปรีดอ ม.8 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านบลีดอ
- หมู่บ้านลดา ม.3 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านลาดอ
- หมู่บ้านมะหุด ม.2 ต.ปะโด อ.มายอ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมาโงะฮ
- หมู่บ้านเขาวัง ม.3 ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านบูเกะแว
- หมู่บ้านป่าไหม้ ม.1 ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านฮูตันฮางุส
- หมู่บ้านบางเก่าเหนือ ม.1 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมืองาแบ ฮีเล
- หมู่บ้านบางเก่าใต้ ม.2 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมืองาแบ
- หมู่บ้านบางเก่าทะเล ม.3 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมืองาแบ ปาตา
- หมู่บ้านเงาะกาโป ม.3 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านกือปาลอบาตัส เกาะกาโป
- หมู่บ้านบึงฉลาม ม.10 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านกูแบยู

นายมาหมูด บือซา ประธานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเอง เดิมพื้นเพเป็นคนในหมู่บ้านมะหุด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านมะโงะฮ ตั้งอยู่ที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งผมคิดว่าการที่มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะชาวบ้านจะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชื่อหมู่บ้านที่บรรพบุรุษได้ใช้เรียกกันเมื่อสมัยก่อน ผมคิดว่า ทุกคนควรให้เกียรติ และให้ความเคารพกับภาษา และอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้นานที่สุด

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ภาษาคือชีวิตของชาติพันธุ์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางมรดกที่บรรพชนได้รักษาไว้ ซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาจากอดีตมาถ่ายทอดสู่คนรุ่นปัจจุบัน การเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ชื่อถนนหนทาง ชื่อป้ายสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นมติของคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษา โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานราชการแต่ละสถานที่ก็มีชื่ออย่างน้อย 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาของชาติ คือภาษาไทย ภาษาท้องถิ่น คือ ภาษามลายู และภาษาสากล คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก เพราะการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านนำร่องทั้ง 10 หมู่บ้านถือเป็นความกล้าหาญที่ควรต้องภูมิใจ และที่สำคัญจะเป็นแบบอย่างให้หมู่บ้านอื่นๆ ในแง่ของการขับเคลื่อนผลักดันให้อัตลักษณ์ความเป็นมลายูที่มีคุณค่า ซึ่งควรได้รับการสืบทอดด้วยแนวความคิดที่สร้างสรรค์

ส่วนกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน โดย อุสตาสรอมซี แหละมีนา การอ่านกวีนิพนธ์มาลายู โดยบาบอหะมิดิง สะนอ ผู้อำนวยการสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านของนักเรียนจากสถานศึกษาในพื้นที่ และการสนทนาชาวบ้าน ในหัวข้อ “เสียงเล็กๆ สู่การเปลี่ยนแปลง” ผู้ร่วมรายการคือ คุณซัมซูดีน โดซอมิ รองนายก อบต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา คุณอัสมะ มะนอ ผู้ช่วยวิจัยบ้านมาโงะฮ ว่าที่ ร.ต.โมฮำมัดยาสรี ยูซง อดีตกำนัน ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ดำเนินรายการโดย คุณนิรมล เมธีสุวกุล ผู้ควบคุมรายการทุ่งแสงตะวัน เนื้อหาเกี่ยวกับการทำวิจัยถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจของประชาชนที่ต้องการให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น