ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมเจ้าท่าเปิดเวทีโครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่แบบการขุดลอกเพื่อพัฒนา และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ระดับจังหวัดครั้งที่ 4 หลังชาวบ้านใน 5 อำเภอมีความเห็นสรุปเลือกขุดลอกร่องน้ำร่องกลางเป็นร่องแรก พร้อมสำรวจเครื่องมือประมงในบริเวณร่องกลาง ก่อนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่หอประชุมปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงลา มีการประชุมสัมมนาระดับจังหวัดในโครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนา และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการตื้นเขินของทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ช่วยการระบายน้ำ และส่งเสริมการสัญจรทางน้ำ พร้อมทั้งการท่องเที่ยว
โดย ดร.มานะ ภัตรพานิช บจก.ซี สเปคตรัม กล่าวว่า ได้ใช้เวลา 2 ปีในการทำแผนแม่บท มีการตั้งเวทีทำประชาพิจารณ์ในระดับอำเภอที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 5 อำเภอ อำเภอละ 3 ครั้ง มี อ.สิงหนคร อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง อ.เมือง และ อ.หาดใหญ่ ซึ่งผ่านแล้วทั้ง 5 เวที ทั้งนี้ ทางชาวบ้านได้สรุปว่าควรขุดลอกร่องน้ำร่องกลางเป็นร่องแรกในทั้งหมด 4 ร่อง คือ แนวบน แนวกลาง แนวล่าง และรอบเกาะยอ โดยร่องกลางนั้นมีความลึก 4 เมตร กว้าง 20 เมตร ยาว 13.55 กม. และมีปริมาณตะกอน 7,045,76 ลบ.ม.
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปก็จะมีการประชุมสัมมนาในระดับจังหวัดทั้งหมด 6 ครั้ง และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 4 จะกล่าวถึงความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเบื้องต้น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการสำรวจแนวรร่องน้ำร่องกลาง โดยจากการสำรวจร่องน้ำร่องกลางพบว่า มีเครื่องมือประมงประเภทไซนั่ง 64 แถว 535 ลูก ไซนั่งร้าง 16 ลูก และไซนอน 30 ลูก มีแจ้งชื่อ 61 ราย และไม่แจ้งชื่อ 7 ราย
ซึ่งมีการนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การประมาณค่าขุดลอกมาให้ความรู้ระดมความคิดรวมถึงข้อเสนอแนะ และหลังจากนี้ก็จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง