สวนสาธารณะ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี" (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง บิดาแห่งยางพาราไทย เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้สักการะบูชา พักผ่อนชมธรรมชาติ และออกกำลังกายท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของพืชไม้นานาพันธ์
สวนสาธารณะ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี" (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตรัง หรือห่างจากศาลากลางจังหวัดไปแค่ 1 กิโลเมตร ในบริเวณถนนวงเวียนเข้าสู่ประตูเมืองตรัง ด้านทิศตะวันออก ที่จะออกไปสู่ จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ซึ่งตรงจุดนี้มีลักษณะเป็นควนหรือเนินเตี้ย แต่กว้างขวางเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ยืนต้นต่างๆ อย่างมากมาย
จุดเด่นของสถานที่แห่งนี้ อยู่ตรงที่อนุสาวรีย์ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ" ชาว จ.ระนอง ผู้ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองตรัง เมื่อ พ.ศ.2433 โดยท่านได้เปลี่ยนโฉม และฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2456 หรือเป็นเวลา 100 ปี ล่วงมาแล้ว
ผลงานของ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ" ที่ผ่านมานับว่า เป็นเลิศกว่านักปกครองคนอื่นในยุคเดียวกัน เพราะมิได้รับการยกย่องเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แม้กระทั่งในหมู่ชาวต่างประเทศแถบแหลมมลายู โดยเฉพาะการนำพันธุ์ยางพาราจากประเทศมาเลเซียเข้ามาเผยแพร่จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้
ด้วยความรัก และตระหนักถึงคุณงามความดีของท่าน นายยรรยง วิโนทัย นายกเทศมนตรีเมืองตรังสมัยนั้น จึงได้ร่วมกับประชาชน พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ท่าน ด้วยงบประมาณ 1,333,000 บาท และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2494 ซึ่งต่อมาได้มีการเรียกวันนี้ว่า "วันพระยารัษฎาฯ"
ภายในสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ บริเวณตรงกลางจะมีการสร้างรูปปูนปั้นสีดำ ซึ่งเป็นภาพจำลอง "พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ" ในท่ายืนหันหน้าไปทางทิศใต้ แต่งกายด้วยเครื่องแบบเต็มยศยืนเด่นเป็นสง่า พร้อมทั้งมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีขาวรองรับ และมีบันไดขึ้นลงทั้งสี่ด้าน
ส่วนตรงเชิงบันไดขึ้นสู่อนุสาวรีย์ จะมีปาล์มใหญ่ทรงกลม ซึ่งเป็นปาล์มหายากจนนับได้ว่ามีเพียงที่ จ.ตรัง แห่งเดียวเท่านั้น ได้แก่ "ปาล์มเจ้าเมืองตรัง" หรือ "Governor of Trang" ขณะที่บริเวณพื้นโดยรอบของพื้นที่จะถูกปกคลุมไปด้วยหญ้าที่เขียวขจีรวมทั้งยังมีการติดตั้งลานน้ำพุจำนวนหลายจุดด้วย
ทั้งนี้ มิใช่เฉพาะชาวตรังเท่านั้น ที่จะเดินทางมายังสวนสาธารณะแห่งนี้ แต่ไม่ว่าใครต่อใครก็ตามที่มีโอกาสเดินทางผ่านเข้ามา จะต้องแวะเข้าไปกราบสักการะอนุสาวรีย์ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ" เพื่อความเป็นศิริมงคล รวมทั้งบรรดาข้าราชการในระดับต่างๆ ที่โยกย้ายเข้ามารับตำแหน่ง หรือแม้แต่บุคคลอื่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีประชาชนจำนวนหนึ่ง นำดอกไม้ ธูป เทียน และพวงมาลัย เข้าไปกราบไหว้บนบานสานกล่าว หรือแก้บนด้วยทองคำเปลว และประทัด พร้อมทั้งอาศัยบารมีของอดีตเจ้าเมืองตรัง เป็นร่มเงาปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะในยามที่มีเรื่องเดือดร้อน หรือมีปัญหาต่างๆ นานัปการ
สำหรับด้านทิศตะวันตกใกล้ประตูทางเข้าสวนสาธารณะจะมีเครื่องเล่นนานาชนิดเพื่อให้เด็กๆ ได้สนุกสนานกันตามใจชอบ ส่วนใหญ่ในช่วงเย็นจะมีชาวตรังทุกเพศทุกวันมาทานข้าว พบปะพูดคุย เที่ยวเล่น หรือออกกำลังกาย เพื่อเป็นการพักผ่อนเอาแรง ทามกลางบรรยากาศที่สดชื่น โดยเฉพาะเมื่อยามที่มีลมพัดโชยมา
นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบยังมีการสถานที่พักผ่อนไว้เป็นจุดๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว ท่ามกลางต้นไม้นานาพันธุ์ เช่น มะขาม ไทร ศรีตรัง น้ำเต้าอินเดีย ฯลฯ อีกทั้งบางต้นยังมีอายุยาวนานจนสูงใหญ่โตขนาดหลายคนโอบเลยทีเดียว ขณะเดียวกันยังได้มีการสร้างสวนสุขภาพขึ้น เพื่อรองรับผู้คนที่ชอบออกกำลังกายด้วย
เดิมทีสถานที่แห่งนี้ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ" ได้มีการสร้าง "ตำหนักผ่อนกาย" ซึ่งได้รับพระราชทานนามมาจากรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้รับเสด็จพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายรวมทั้งรัชกาลที่ 6, 7 และ "สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง" อีกทั้งยังเคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดในยุคแรกก่อนที่ตำหนักจะถูกทิ้งร้างให้ปรักหักพังไป และได้ประดิษฐานอนุสาวรีย์ไว้แทนที่ในเวลาต่อมา
ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว