ยะลา - เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุสถาบันปอเนาะเป็นของดีในพื้นที่ และเป็นอัตลักษณ์ของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
วานนี้ (18 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมขุนศิลป์ สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดการประชุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพสถาบันปอเนาะ โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บริหารสถาบันปอเนาะ โต๊ะครู อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกว่า 200 คน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สถาบันปอเนาะถือเป็นของดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้แต่คนต่างศาสนายังให้ความสำคัญเดินทางมาเยี่ยมเยียนมัสยิด สถาบันปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพราะโต๊ะครูในอดีตได้นำอัลกุรอานมาเก็บไว้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเชื่อว่า สถาบันปอเนาะมีความยิ่งใหญ่ อย่างเช่นนักศึกษาไทยที่จบจากสถาบันปอเนาะได้รับการยอมรับ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ถือเป็นตัวแทนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีอายุกว่า 1,000 ปี การไปประกอบพิธีฮัจญ์ก็เช่นกัน ผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ส่วนหนึ่งก็จบมาจากสถาบันปอเนาะ เป็นการนำอารยธรรม และวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเผยแพร่ความเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าผู้ที่จบจากสถาบันปอเนาะให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจแบบอิสลาม รวมถึงเป็นที่ปรึกษาของชุมชน อยากให้ใช้ความเข้มแข็งของสถาบันปอเนาะให้เป็นประโยชน์ เพราะถือเป็นต้นทุนที่ยิ่งใหญ่ โดยอยากให้สถาบันปอเนาะที่มีความพร้อม ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นระเบียงของเมกกะ เพื่อให้คนได้รู้จัก และเรียนรู้สถาบันปอเนาะที่อยู่คู่กับจังหวัดชายแดนภาคใต้
สถาบันปอเนาะเป็นอัตลักษณ์ของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่เคียงคู่มากับจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ปอเนาะในอดีตเกิดจากความรู้ อุดมการณ์ และความเสียสละของโต๊ะครู โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสืบทอดมรดกอันล้ำค่าให้แก่ลูกหลานมุสลิม ในส่วนของด้านกายภาพโครงสร้างพื้นฐาน โดยส่วนใหญ่ของสถาบันการศึกษาปอเนาะยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้มากนัก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สถาบันปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความมั่นคงและเพียงพอ โดยรักษาเจตนารมณ์ และอัตลักษณ์ของปอเนาะดั้งเดิมอย่างเข้มแข็ง