ยะลา - ผู้ประกอบการค้านักธุรกิจใน 3 จชต. เกือบ 7 พันราย วอนรัฐเร่งอนุมัติขยายเวลา Soft Loan 1.5% หลังจะสิ้นสัญญา 27 ธ.ค. นี้ ระบุเดือดร้อนจากดอกเบี้ยที่จะกระโดดไป 10 เท่า หากไม่รีบดำเนินการอนุมัติ
วันนี้ (19 ธ.ค.) นายอุปถัมภ์ ศิริไชย เลขาธิการหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลก็ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้า นักธุรกิจในพื้นที่ โดยอนุมัติวงเงินกู้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วงปีแรกๆ แล้วในปีถัดๆ มาก็ได้มีการเพิ่มวงเงินเป็น 2 หมื่น 5 พันล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี หรือซอฟต์โลน (soft loan)
และหลังจากที่มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 นี้ ผู้ประกอบการค้าต่างๆ ในพื้นที่ที่กู้ยืมเงินจากโครงการนี้ ที่เดิมจ่ายดอกเบี้ย 1.5% ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 10% ต่อปี ตามสูตร MLR +2 หรือ +3 พูดง่ายๆ ผู้ประกอบการในพื้นที่ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มจากเดิมประมาณ 10 เท่า จากเดิมที่ชำระอยู่ ใครที่จ่ายดอกเบี้ยอยู่ 1 ล้านต่อปี ก็จะต้องจ่าย 10 ล้านต่อปี ตามวงเงินเดิมที่กู้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังในเร็ววันนี้ก็คือ แค่ต่อสัญญาไม่ได้ขอให้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติม
“ในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็จะมีผู้ประกอบการหลายรายที่โทร.มาสอบถามรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่า มีการต่อสัญญาหรือยัง มีวงเงินอีกหรือไม่ ธนาคารใดยังมีเงินให้กู้บ้าง ก็จะมีการสอบถามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทางหอการค้ายะลา ก็ได้มีการประสานงานกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อทำหนังสือยื่นไปยังคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อระยะเวลาออกไป โดยในเบื้องต้นทางท่านรองนายกรัฐมนตรีกิตติรัตน์ ก็ได้รับปากว่าจะดำเนินการให้ และจะนำเข้า ครม. เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.56 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้รัฐบาลยุบสภาเสียก่อน เรื่องนี้จึงถูกพักเอาไว้ ทางหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกันทำหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการจะได้รับหากไม่มีการต่อเวลาออกไป” นายอุปถัมภ์ กล่าว
นายอุปถัมภ์ ยังได้กล่าวอีกว่า สำหรับวงเงินกู้ 25,000 ล้านบาท ที่ทางรัฐบาลอนุมัติให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปีนั้น ปัจจุบันทราบว่ามีผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัด จำนวน 6,771 ราย กู้เงินจากวงเงินดังกล่าวไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยทันที หากไม่มีการดำเนินการอนุมัติให้ต่อระยะเวลาออกไป จึงต้องการให้ทาง ครม.รักษาการ พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย ปัญหาความไม่สงบก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าในพื้นที่มากอยู่แล้ว หากปัญหาดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างแน่นอน อัตราดอกเบี้ย 1.5% จะเป็นการต่ออายุผู้ประกอบการที่จะสามารถดำเนินกิจการธุรกิจต่อไปได้