xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.เข้าช่วยชาวประมง 6 อำเภอเดือดร้อนมรสุมเข้า ไม่มีรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - รองเลขาธิการ ศอ.บต. เข้าพบปะ รับฟังข้อเสนอแนะ และให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ 6 อำเภอ บริเวณอ่าวปัตตานี พร้อมพัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ชาวประมงสามารถพึ่งพาตนเองได้

วันนี้ (21 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปะเยี่ยมเยียน และรับฟังข้อเสนอแนะของชาวประมงในพื้นที่ ต.ตะโล๊ะสะมิแล อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อให้การช่วยเหลือชาวประมงในช่วงมรสุม โดยมี นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี และชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มอบข้าวสารให้ผู้พิการในชุมชนอีกด้วย

 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมเยียน พร้อมทั้งมาขอคำแนะนำ และรับฟังชาวประมงในการหารือข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน สำหรับในช่วงมรสุมนี้ ทาง ศอ.บต. ได้นำข้าวสาร ปลากระป๋อง และถุงผ้า เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง โดยไม่สามารถออกทะเลได้ในช่วงมรสุม ถือเป็นการแสดงน้ำใจในการดูแลพี่น้องประชาชน โดยเกณฑ์ในการแจกจ่ายได้หารือในวันนี้ร่วมกันกับพี่น้องทุกคน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะให้มีการตั้งคณะกรรมการในหมู่บ้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.เป็นเจ้าของเรือประมง 2.เป็นลูกเรือในเรือประมง 3.เป็นเด็กกำพร้า และหญิงหม้าย (โดยที่ไม่ได้เป็นทั้งเจ้าของเรือ และลูกเรือ) ทั้งนี้ จะให้เฉพาะคนที่อาศัยอยู่จริงในหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพประมงในบริเวณอ่าวไทย คือ จังหวัดนราธิวาส และปัตตานีเท่านั้น พร้อมสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องการตรวจตราชายฝั่ง การเฝ้าระวังเรือที่จับปลาแบบผิดกฎหมาย โดยชาวบ้านได้ลงความเห็นให้มีการจับ และริบอุปกรณ์ที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สมาคมชาวประมงพื้นบ้านมีองค์กรเครือข่ายของพี่น้องชาวชายฝั่ง 6 อำเภอ 52 หมู่บ้าน 4,000 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 83,100 คน โดยประมาณ ซึ่งทำประมงเป็นอาชีพหลัก ในบริเวณอ่าวปัตตานี ปัญหาที่พบมี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่มาจากมนุษย์ในการใช้เครื่องมือทำลายธรรมชาติ ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง เกิดความเสียหายในวงจรของสัตว์ทะเล เช่น เรือลาก และเรือดุน ปัจจัยที่ 2 คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำเป็น น้ำตาย ซึ่งใน 1 เดือน จะมีปรากฏการณ์แบบนี้ 5-6 วัน กระแสน้ำจะหยุดนิ่งทำให้การจับสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก และช่วงมรสุม ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน จนถึงปลายเดือนธันวาคม ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากคลื่นลมแรง

 
ซึ่งปัญหานี้กินระยะเวลานานถึง 3-4 เดือน ใน 1 ปี ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้หลักในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งสภาพแวดล้อมที่เป็นชายฝั่งติดทะเล ยากแก่การปลูกยางพารา หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านไม่มีอาชีพเสริม จากที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนเครื่องมือประมง งบประมาณในการซ่อมแซมเรือ เมื่อถึงฤดูกาลมรสุม ศอ.บต.ได้มอบข้าวสาร และปลากระป๋องให้แก่ชาวบ้านที่ไม่ได้ประกอบอาชีพในช่วงมรสุมอีกด้วย ทำให้ชาวประมงมีกำลังใจในการประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งทางสมาคมเองได้รวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเป็นพลังในการดูแลและรักษาทรัพยากรในท้องทะเล ร่วมกันรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ชาวประมงทุกคน และเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างฐานทรัพยากรทางทะเลในวันนี้เท่านั้น แต่เป็นการสร้างฐานทรัพยากรทางท้องทะเลให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อให้สามารถผลิตสัตว์น้ำได้หลายชนิด และหลายสายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน ทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยเติมเต็มห่วงโซ่ของระบบนิเวศทางทะเลให้สมบูรณ์ขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีการสร้างธนาคารสัตว์น้ำของชุมชน เป็นการผนวกรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้สมัยใหม่ ติดอาวุธทางปัญญาให้ชาวประมงสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สมาคมฯ เตรียมจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนพหุวัฒนธรรม ซึ่งลูกหลานชาวประมงในจังหวัดปัตตานี และชาวนาในจังหวัดนราธิวาส จะได้ทำกิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิดร่วมกัน โดยเรียนรู้รากเหง้าของวิถีชีวิตของตน และกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น