xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จับมือ 5 มหาวิทยาลัย จชต. กำหนดขอบเขตพัฒนาในพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - ศอ.บต.ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย กำหนดขอบเขตแผนการปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตอบโจทย์การประเมินให้มีความชัดเจนทั้งในมิติพื้นที่ ปริมาณ และคุณภาพ

วันนี้ (14 พ.ย.) จากการประชุมหารือแนวทางการติดตามและประเมินผลโครงการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ในที่ประชุมได้จัดตั้ง Core Team ทีมประสานงานหลัก ในการประเมินผลปี 2556 ร่วมกันระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนัก/กอง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิจัยท้องถิ่น และผู้นำบัณฑิตอาสา จัดทำโจทย์การประเมินแผนงานให้มีความชัดเจนทั้งในมิติพื้นที่ ปริมาณกับคุณภาพ โดยจัดทำเครื่องมือและแบบวิจัยที่เหมือนกันให้สอดคล้องกับบริบทของแผน เพื่อกำหนดพื้นที่ และประชากรตัวอย่างที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนา โดยมีตัวชี้วัด (LPIs) ในการประเมิน เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน และการประเมินผลภาวะผู้นำองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งทาง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มอบนโยบายการประเมินผลเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 โดยให้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างไร ซึ่งจากกลุ่มโครงการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555-2557 และแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2556 เป็นงบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนราชการอื่น โดยให้เครือข่าย 5 มหาวิทยาลัย เสนอผลงานวิจัยในเชิงการผลักดันนโยบายใหม่ๆ รวมทั้งการรวมรวบผลงานวิจัยที่ผ่านมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตร่าง TOR การประเมินผลแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา)

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ กล่าวว่า โครงการทุกโครงการควรเชื่อมโยงมิติของการบูรณาการร่วมกัน และใช้งบประมาณกลับคืนสู่ประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยจะต้องตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การพัฒนาเพื่อความมั่นคง โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่มีผลตอบรับดี นอกจากนี้ ยังให้สำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสานงานกับกระทรวง และกรมต่างๆ นำเสนอข้อมูล และผลงานวิจัย โดยอยากเห็นโครงการที่ออกมาในรูปแบบที่สื่อถึงมุมมองเพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ในพื้นที่ให้ทุกกลุ่มอาชีพสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น