xs
xsm
sm
md
lg

หนูน้อยวัย 6 ขวบ ที่ จ.ตรัง ป่วยเป็นโรคฝ่าเท้าหนา วอนผู้ใจบุญช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ ตรวจพบหนูน้อยวัย 6 ขวบ ป่วยเป็นโรคฝ่าเท้าหนา แพทย์ให้ยาทา ยากิน และขูดผิวหนังออกเพื่อทำการรักษา พร้อมประสานให้ผู้ใจบุญช่วยเหลือพาไปรักษาที่ กทม.

วันนี้ (13 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์วรเชษฐ์ อนันตรังสี ผอ.โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จ.ตรัง กล่าวถึงอาการป่วยของ ด.ญ.จุฬาลักษณ์ แก้วสม “น้องกุ๊ก” อายุ 6 ปี หนูน้อยชาวหมู่ที่ 4 บ้านท่าจีน ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งป่วยด้วยโรคผิวหนังมานานกว่า 3 ปีแล้ว จนทำให้มีอาการคันตามบริเวณเท้า และมืออย่างรุนแรง กระทั่งทางครอบครัวต้องออกมาร้องผ่านสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ผู้ใจบุญช่วยประสานหาทางรักษา และช่วยเหลือทุนทรัพย์ที่ขาดแคลน

ทั้งนี้ จากการรักษาน้องกุ๊ก ในช่วงแรกๆ เมื่อ 1 ปีก่อน แพทย์ได้ให้ยาทาเพื่อให้ผิวหนังที่บริเวณฝ่าเท้าลอกออก แต่ไม่ได้ผล ดังนั้น เมื่อ 3 เดือนล่าสุด แพทย์จึงเปลี่ยนมาขูดผิวหนังออก ซึ่งทำให้อาการป่วยของหนูน้อยดีขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งกระบวนการรักษาค่อนข้างจะต้องใช้เวลานาน และหากไม่มีโรคผิวหนังอื่นมาแทรกซ้อน ทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะให้หายขาดไปทันทีทันใดเลยนั้นคงยาก โดยมีผู้ป่วยบางคนที่พอโตเป็นผู้ใหญ่อาการก็จะดีขึ้นเอง แต่ก็ยังมีบางคนที่ต้องมาโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ

สำหรับอาการป่วยของ น้องกุ๊ก นั้น มาจากโรคฝ่าเท้าหนา ซึ่งบางคนจะเป็นที่บริเวณมือด้วย โดยในภาคใต้จากการตรวจผู้ป่วยของโรงพยาบาลจะพบประมาณปีละไม่เกิน 5 ราย แพทย์จะรักษาไปตามสภาพอาการ ทั้งให้ยาทา ยากิน และขูดผิวหนังออก สำหรับกรณีของน้องกุ๊ก แพทย์กำลังให้ยากินเพิ่มเพื่อช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง ที่ส่งผลให้ฝ่าเท้าหนาขึ้นเรื่อยๆ แต่จะไม่เลือกวิธีการตัดผิวหนังออก พร้อมทั้งเร่งหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากพันธุกรรม เพื่อทำการรักษาให้ตรงประเด็นมากที่สุด

ส่วนกรณีที่มีผู้ติดต่อมาว่า พร้อมจะประสานไปยัง เปิ้ล-จารุณี สุขสวัสดิ์ ดารานักแสดงชื่อดัง เพื่อพาน้องกุ๊ก ไปรักษาที่กรุงเทพฯ นั้น นายแพทย์วรเชษฐ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วที่ ผอ.โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ ก็มีทั้งยา และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยไม่แพ้ในส่วนกลาง ซึ่งสามารถที่จะรักษาน้องกุ๊ก ให้หายได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่บางสถานพยาบาลที่กรุงเทพฯ อาจมีอุปกรณ์ในการช่วยเดิน เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดบริเวณฝ่าเท้าของหนูน้อยได้ ซึ่งหากมีผู้ใจบุญประสานมา ทางโรงพยาบาลก็ยินดีช่วยเหลือส่งตัวไปรักษาต่อ
   

กำลังโหลดความคิดเห็น