xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหาดสำราญ จ.ตรัง ร่วมประเพณีลากพระข้ามทะเลเอกลักษณ์ท้องถิ่นหนึ่งเดียวในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ชาว อ.หาดสำราญ ร่วมอนุรักษ์ประเพณีลากพระข้ามทะเล หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการทำบุญของพุทธศาสนิกชน

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ท่าเทียบเรือปากปรน ม.1 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง ชาวหาดสำราญ พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่กว่า 200 คน ร่วมกันจัดงานประเพณีลากพระข้ามทะเล ประจำปี 2556 ขึ้น โดยมีเรือพาย จำนวน 9 ลำ ร่วมลากเรือพระน้ำเพื่อล่องไปในทะเลตรัง จากท่าเทียบเรือบ้านปากปรน ต.หาดสำราญ เพื่อเดินทางสู่แหลมจุโหย ต.เกาะลิบง เป็นระยะทางกว่า 10 ไมล์ทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป สมโภชเฉลิมฉลองตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ และส่งเสริมการทำบุญของพุทธศาสนิกชน พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของ ต.หาดสำราญ ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

สำหรับการลากพระข้ามทะเลนี้ นับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ และยาวนาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ หลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ตลอดพรรษา ซึ่งชาวบ้านทั่วไปจะเดินทางไปร่วมงานลากเรือพระทางบก แต่เนื่องจากชาวปากปรน และพื้นที่ใกล้เคียงเกือบทั้งหมดมีอาชีพทำการประมง วิถีชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำคลอง และการใช้เรือ ซึ่งในสมัยก่อนการเดินทางโดยทางบกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะทำการประมงกันในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง หรือน้ำใหญ่ คือ ระหว่างขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ และแรม 13 ค่ำ ถึงขึ้น 5 ค่ำ รวมทั้งยังไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้านด้วย โดยเมื่อที่อื่นๆ มีการลากพระกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงมักไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม

ดังนั้น ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการประกอบอาชีพการประมง ชาวปากปรน จึงร่วมกันนำเอาเรือที่ใช้กันทำประมงมาประกอบตกแต่งเป็นเรือพระ แล้วใช้เรือลำอื่นๆ ผูกลากไปในคลองปรน จากท่าเทียบเรือบ้านปากปรน ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ เพื่อไปยังแหลมจุโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง โดยผ่านไปในทะเลอันดามัน ระยะทางกว่า 10 ไมล์ทะเล กระทั่งเมื่อถึงแหลมจุโหย ก็จะมีการจัดกิจกรรมกลางแจ้งกันที่บิรเวเณชายหาด จากนั้น จะตั้งขบวนเรือ และร่วมกันลากกลับที่ท่าเรือบ้านปากปรน โดยได้มีการถือปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมานับหลายสิบปีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีประจำถิ่นที่ยังหลงเหลือเพียงแค่แห่งเดียวของประเทศไทย


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น