xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงโพงพางหาดสำราญ ร้อง กมธ.เกษตรเดือดร้อนถูกจับโพงพาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ชาวประมงโพงพางหาดสำราญ เข้าร้องเรียนกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา หลังจากถูกหน่วยเฉพาะใบไม้เขียว กรมประมง เข้าทำลายโพงพาง ทั้งที่อยู่ระหว่างเจรจากับจังหวัดเพื่อเปลี่ยนอาชีพ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (18 ส.ค.) นายพิชัย เพชรพรหม อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 128 หมู่ที่ 11 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง พร้อมด้วยชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 10 คน กรณีปัญหาความเดือดร้อนจากการที่หน่วยเฉพาะกิจใบไม้เขียว กรมประมง เข้าทำลายโพงพาง ได้เข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจาก นายวิเชียร คันฉ่อง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตรัง

นายพิชัย กล่าวว่า ในช่วงที่ชาวประมงเข้าจับสัตว์น้ำจากโพงพาง ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจใบไม้เขียว เข้าจับกุม และทำลายโพงพาง ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงโพงพางเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบัน ยังมีชาวประมงที่ทำอาชีพโพงพางอยู่ 3 อำเภอ คือ อ.ปะเหลียน อ.กันตัง และ อ.หาดสำราญ โดยก่อนหน้านี้ ตนเองก็เคยเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อจังหวัดตรัง เพื่อขอชะลอการเข้าจับกุม เพื่อให้มีอาชีพใหม่ก่อน

เนื่องจากการที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะชาวบ้านที่มีอาชีพประมงหลายคนไม่ถนัดกับอาชีพใหม่ โดยทางราชการอ้างว่า การทำอาชีพโพงพางเป็นอาชีพที่ทำลายล้างสัตว์น้ำ แต่ตนไม่เห็นว่าเป็นการทำลายล้าง และเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เหมือนกับอาชีพอวนรุน ที่เป็นการทำลายล้าง และเห็นทางราชการก็ยังคงปล่อยให้มีการทำอาชีพอวนรุนอีกในหลายอำเภอของจังหวัดตรัง

ขณะนี้ในพื้นที่ 3 อำเภอที่อยู่ติดกับทะเลตรัง ยังมีชาวประมงทำอาชีพโพงพางอยู่ประมาณ 120 ปาก และการเดินทางมาร้องเรียนต่อสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้แจ้งไปยังผู้รับผิดชอบในรัฐบาลว่า โปรดเห็นใจชาวบ้าน และอย่าเข้าจับกุมชาวบ้านระหว่างที่จะเปลี่ยนอาชีพใหม่

ด้าน นายวิเชียร คันฉ่อง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตรัง และกรรมาธิการการเกษตร (กมธ.) วุฒิสภา กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวบ้านที่มาร้องเรียนเกี่ยวกับการทำอาชีพโพงพาง ก็จะต้องไปดูที่ข้อเท็จจริงก่อน และเห็นว่าหากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องไปดูที่รัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะมีการจำกัดความว่า กฎหมายใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นจะใช้ไม่ได้ อีกทั้งกฎหมายประมงก็ออกมาใช้ตั้งแต่ ปี 2492 จึงล้าหลังแล้ว

ส่วนการที่ชาวบ้านบอกว่า ได้ยึดอาชีพทำโพงพางมาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย แม้นักกฎหมายรัฐธรรมนูญจะได้บัญญัติไว้ว่า ชุมชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม แต่อาชีพโพงพางตนเองก็เห็นว่า เป็นอาชีพที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะดักจับสัตว์น้ำกลางคืนเท่านั้น ทั้งนี้ หลังจากตนได้รับหนังสือร้องเรียนแล้วได้ส่งเรื่องไปยังกรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาศึกษาและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น