xs
xsm
sm
md
lg

จังหวัดตรังร่วมอนุรักษ์ “ป่าจาก” พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้แก่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - จังหวัดตรัง และ อบต.ย่านซื่อ อ.กันตัง จับมือกันอนุรักษ์ “ป่าจาก” แหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ให้คงอยู่เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งนำไปใช้สอยได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งผลิตสินค้า OTOP หัตถกรรมพื้นบ้าน ทำตับจาก ทุ่นลอยใช้จับสัตว์น้ำ และนำมาประกอบอาหาร

นายเสกสรร สุจริยา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ย่านซื่อ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า ตำบลย่านซื่อ เป็นตำบลหนึ่งที่มีความเป็นมาอันยาวนาน โดยมีทั้งชาวไทย และชาวจีนได้อพยพจากที่อื่นมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านในลุ่ม บริเวณริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรัง เป็นแนวยาวหลายกิโลเมตรตามสภาพภูมิประเทศ ทำให้พื้นที่ริมฝั่งของชุมชนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นจาก พืชจำพวกปาล์มที่เก่าแก่มากชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ต้นตั้งตรง ใบแทงขึ้นจากกอ มีช่อดอกแทงเป็นงวงออกมาจากกาบใย และกลายเป็นผลในที่สุด

และเนื่องจากตำบลย่านซื่อ มีต้นจากอยู่มากที่สุดของจังหวัดตรัง ประมาณ 4-5 พันไร่ และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และมีชาวบ้านไม่น้อยกว่า 30% ที่ยังคงประกอบอาชีพเกี่ยวกับต้นจากมาต่อเนื่องกันนับ 100 ปี เนื่องจากเป็นพืชมากประโยชน์ เพราะสามารถนำทุกส่วนมาใช้ได้ เช่น นำใบมาทำเป็นตับจาก นำลำต้นมาทำเป็นทุ่นลอยใช้จับสัตว์น้ำ นำผลมาทำเป็นอาหาร นำน้ำเลี้ยงมาทำเป็นน้ำตาลจาก และนำทั้งใบ หรือก้านใบ มาจักสานเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน

 
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของต้นจากก็คือ ใบอ่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็น 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล หรือ OTOP เพราะใบจากของชุมชนย่านซื่อสามารถผลิตส่งขายไปทั่วในรูปแบบของอุตสาหกรรมครัวเรือน จนถือเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 นั่นเป็นเพราะคุณภาพที่พิเศษเหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้พืชในป่าชายเลนชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีค่าของตำบล และสร้างรายได้ให้กลับเข้าสู่ชุมชนปีละหลายล้านบาท จนมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น จังหวัดตรัง พัฒนาชุมชน และ อบต.

นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้เดินทางยังชุมชนย่านซื่อ จะต้องพบเห็นผู้คนแทบทุกครัวเรือนทำกิจกรรมจากใบจากในรูปแบบต่างๆ จนถูกขนานนามว่า อาชีพปากกัดตีนถีบ เพื่อนำไปส่งขายตามจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งประเทศมาเลเซีย แต่ที่สำคัญที่สุดเหนือกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ การที่ชุมชนแห่งนี้ได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าจากเอาไว้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลดีต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาอย่างยาวนาน และยังคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น