xs
xsm
sm
md
lg

“ศศิน” ชี้ 3.5 แสนล้านไร้แก้น้ำท่วม “ปากบารา” โยงงบ 2.2 ล้านล้านเอื้อนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.ศศิน เฉลิมลาภ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวที “กู้ 2.2 ล้านล้าน คนสงขลา-สตูล ได้หรือเสีย” “ศศิน” เปิดข้อมูลงบ 3.5 แสนล้าน ทุ่มปรับปรุงลำน้ำหัวเมืองรับแลนด์บริดจ์ไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม เพียงสร้างความเชื่อมันนักลงทุน “ภารณี” เผยแก้ผังเมืองภาคใต้สร้างท่าเรือฯ รับนิคมอุตสาหกรรมหนัก ไม่ให้คนพื้นที่ร่วมตัดสินใจ

เวลา 18.30 น. วันนี้ (26 ต.ค.) ที่ลานประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ขบวนเดินด้วยรัก พิทักษ์สองฝั่งทะเล ซึ่งเดินเท้ามาจากท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาแล้ว เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล หลังจากรัฐบาลจะบรรจุโครงการดังกล่าวแนบท้าย พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งขบวนได้เดินออกจาก จ.สตูล มาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เป็นวันที่ 5 แล้ว ได้รับการต้อนรับจากพี่น้องชาวหาดใหญ่อย่างอบอุ่น ถึงแม้จะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดเส้นทาง

และวันนี้ คณะเดินทางได้มาแวะพักที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่หลังสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ในหัวข้อ “กู้ 2.2 ล้านล้าน คนสงขลา-สตูล ได้หรือเสีย” โดยมี นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา อ.ศศิน เฉลิมลาภ จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ อ.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวด้านผังเมือง และนักวิชาการในพื้นที่อีกหลายท่าน ทั้งนี้ ก่อนเปิดวงเสวนา ได้มีการแสดงจากนักดนตรีหลายๆ วงที่ได้มาร่วมต้อนรับ เช่น วงซูซู วงกอร์และ แสงธรรมดา เพื่อให้กำลังใจ และสร้างความบันเทิงให้แก่คณะที่เดินทาง และพี่น้องชาวหาดใหญ่

 
อ.ศศิน เฉลิมลาภ จากมูลนิธิสืบนาคะเศถียร กล่าวว่า ที่มาวันนี้มี 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เป็นที่ปรึกษาเครือข่ายประมงรักษ์ทะเลไทย ส่วนเรื่องที่ 2 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไม่ค่อยได้ทำเรื่องทะเลส่วนใหญ่จะที่เป็นเรื่องป่าเขา มูลนิธิฯ ก็ช่วยรักษาป่าทั่วประเทศไม่ได้ แต่ป่าทางตะวันตกเป็นป่าที่สำคัญ ทำไมถึงมาปากบารา เพราะตะรุเตาเป็นสิ่งที่สำคัญ ทะเลอันดามันเหมือนกับป่าตะวันตก ที่เราต้องช่วยกันรักษา การสร้างท่าเรือปากบารา ส่งผลกระทบให้เกาะต่างๆ อย่างมหาศาล ดังนั้น จึงอยากมาให้กำลังใจแก่พี่น้องชาวสตูล ผมไม่ได้รู้สึกหรอกว่ามาเลียนแบบผมทำไม ก็อยากให้เดินกันทั่วประเทศเพื่อปกป้องทรัพยากร เขื่อนแม่วงก์ มากับงบ 3.5 แสนล้าน ส่วนปากบารา มากับงบ 2.2 ล้านล้าน ทั้งแม่วงก์ และปากบาราไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่จะล้มรัฐบาล เขาก็พยายามโยงเรื่องนี้เข้าสู่การเมือง เราแค่ปกป้องสิ่งที่เราเชื่อเรารัก การเดินคือการกบฏ ซึ่งก่อนเราจะออกมาเดินเราก็ทำทุกอย่างแล้ว ทั้งประท้วง ทั้งยื่นหนังสือ แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งๆ ที่พวกเราก็ศึกษากันมาแล้วทุกอย่าง ในที่สุดก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เลยต้องเดิน ถามว่าทำไมต้องเดิน เพราะเราไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วเหมือนกัน

ในส่วนของเรื่องเขื่อนแม่วงก์ สาเหตุที่ต้องรีบเดินเพราะกลัว พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะออกมาก่อน ถ้าออกมาก่อนการเคลื่อนไหวทุกอย่างจะต้องจบ เพราะข่าวทุกข่าวจะวิ่งไปหาการเมืองก่อน ก็เลยตัดสินใจเดิน เริ่มไม่ไว้ใจกระทรวงทรัพย์ฯ แล้ว เราต้องออกมาปกป้องป่า การสร้างเขื่อนมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม จากข้อมูลมันช่วยกรุงเทพฯ ไม่ให้น้ำท่วมเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แม่วงก์อยู่ในพื้นที่ที่ผมต้องรับผิดชอบโดยตรงเพราะมันอยู่ในพื้นที่ป่าตะวันตก

 
อ.ศศิน กล่าวต่อว่า ตอนที่เดินผมรู้สึกมันใหญ่กว่าเรื่องเขื่อนแม่วงก์ คือ การได้ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม การรักษาป่าส่วนใหญให้เป็นของส่วนรวม อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเราก็ต้องรักษาไว้เหมือนกัน ถ้าท่าเรือมาสิ่งเหล่านี้ก็จะหายหมด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องมีหน้าที่รักษาเขื่อนแม่วงก์ใว้ให้แก่คนทุกคน ทั้งคนหาดใหญ่ และคนทั่วประเทศ

ทำไมปากบารา ตะรุเตา ต้องมาอยู่บนความเสี่ยงว่าจะเจ๊งหรือไม่เจ๊งเราเห็นตัวอย่างมาแล้วจากระนอง สร้างไปแล้วจะได้ใช้จริงๆ หรือไม่ มันอาจจะไม่มีเรือมาเลยก็ได้ ซึ่งมันไม่แน่ เรามีเภตรา ตะรุเตา เรามีคลังแห่งความหลากหลาย มันจะพังไปด้วยหรือเปล่า

ที่มาวันนี้ มาให้กำลังใจแก่คนที่เขาต่อสู้ เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ อยากจะพูดเปรียบเทียบว่าแม่วงก์เกี่ยวข้องกับปากบาราอย่างไร เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำมาใช้ได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ วิธีคิดของเสรีนิยมใหม่มันคือความคิดของทุนนิยมเสรีนั่นเอง ซึ่งสามารถที่จะผ่านกลไกของรัฐเข้าไปสู่เรื่องทรัพยากรได้ ก้าวข้ามความเป็นชาติ เรื่องส่วนรวมไป

การศึกษาเขื่อนแม่วงก์ กับงบ 3.5 แสนล้านมา การขุดลอกลำน้ำคือ การปรับปรุงลำน้ำ ซึ่ง อ.หาดใหญ่เจอแจ็กพอต คือ มีงบมาปรับปรุงคลอง ร.1 ซึ่งรวมอยู่ใน 17 ลุ่มน้ำ แต่เอางบมาทุ่มที่หาดใหญ่หมดเลย พอจะแกะรอยต่างๆ ได้ว่า ไม่ต้องการแก้น้ำท่วม แต่เป็นการให้นักลงทุนมั่นใจ ดังนั้น จึงต้องมีโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน คือ การสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน จนมาถึงงบ 2.2 ล้านล้าน ซึ่งจิ๊กซอว์ใหญ่คือ การเชื่อมโยงลอจิสติกส์ เขาต้องการให้เมืองต่างๆ ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ น้ำต้องไม่ท่วม มันไม่ใช้จุดเล็กๆ เรื่องท่าเรือปากบาราอย่างเดียว ทุนนิยมเสรีเข้ามาเต็มรูปแน่นอน ทั่วประเทศในพื้นที่อื่นๆ จะเกิดอะไรขึ้น นี่คือสงครามระบบนิเวศ เราคงต้องเดินกันอีกเยอะ
อ.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผังเมือง
 
อ.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง กล่าวว่า ถ้าบ้านเรา เราเป็นคนสร้างถ้าเราจะเปลี่ยนหลังคา เราต้องเป็นคนตัดสินใจเอง ผังเมืองก็เหมือนกัน ผังเมืองสงขลาเราไม่ต้องการอุตสาหกรรม แต่คนสั่งเปลี่ยนเป็นคนที่อยู่กรุงเทพฯ มันไม่ใช่คนที่นี่ การสั่งเปลี่ยนผังเมืองสงขลาเกิดขึ้นมาเมื่อมีงบ 3.5 แสนล้าน และ 2.2 ล้านล้าน การทำท่าเรือฯ จะทำเพื่ออะไรในเมื่อมันไม่คุ้มทุน เราต้องเสียที่ดิน เสียแผ่นดิน เสียทะเล มันผิดหลักการที่การบริหารงาน จะให้นายกรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีเป็นคนตัดสินใจมันไม่ใช่ กรมโยธาฯ ชี้แจงว่าแก้แค่ 10 ปี มันไม่ใช่ แต่มันมีแผนใหญ่รออยู่ อุตหาหกรรมที่จะตามมากับแลนด์บริดจ์ เราต้องช่วยภาคใต้ ถ้ารื้อผังเมืองหมดโดยที่คนภาคใต้ไม่ได้มีส่วนร่วม ถามว่ารัฐบาลแน่มาจากไหน มีสิทธิอะไรที่จะมารื้อผังเมือง


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น