ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ลงพื้นที่เกาะราชา แก้ปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิต 12 เดือน จมน้ำตาย 7 ราย เผยนักท่องเที่ยวดื้อไม่ฟังคำเตือนไกด์ ขณะที่ไกด์เองก็ดูแลไม่ทั่วถึง ประสานขอบีชการ์ดจาก อบจ. กำชับบริษัททัวร์และไกด์ดูแลนักท่องเที่ยวให้ทั่วถึงขึ้น
วันนี้ (12 ต.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายเกษม สุขวารี ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธ์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต นายพิสิษฐ์ ปภากิจยศพัฒน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์ กฤษ สกุลพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังเกาะราชา หมู่ที่ 7 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อหารือร่วมกับนายสฤษดิ์ จันดี ประธานชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเองเกาะราชา ผู้ประกอบการโรงแรม บังกะโล และนำเที่ยว บนเกาะราชา ถึงแนวทางการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตบ่อยครั้ง โดยได้หารือร่วมกันที่โรงแรมเดอะ ราชา
การหารือร่วมกันในครั้งนี้ สืบเนื่องจากทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเองเกาะราชา ผู้ประกอบการบนเกาะราชา ถึงปัญหานักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจากการลงไปเล่นน้ำที่บริเวณหาดปะตก หรือ หาดพลับพลา ซึ่งอยู่หน้าโรงแรมเดอะ ราชา จำนวนหลายคนต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการเกรงว่าหากยังมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการจมน้ำเรื่อยๆ จะทำให้เสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวบนเกาะราชาได้
นายสฤษดิ์ จันดี ประธานชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเองเกาะราชา และผู้ประกอบการ ชี้แจงถึงปัญหาการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวที่เกาะราชา ว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการจมน้ำที่เกาะราชาแล้ว 6 - 7 ราย ล่าสุดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนเกือบทั้งหมด ซึ่งการจมน้ำเสียชีวิตนั้นปัญหาหลักๆ เกิดจากนักท่องเที่ยวดื้อไม่เชื่อฟังคำเตือนของไกด์ ในขณะที่ไกด์เองก็ดูแลนักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวไม่ทั่วถึง รวมทั้งเสียชีวิตจากโรคประจำตัว และนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิตทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับบริษัททัวร์แบบไปเข้าเย็นกลับทั้งหมด ไม่มีนักท่องเที่ยวที่พักค้างคืนในโรงแรม และบังกะโล เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว รวมทั้งบนเกาะราชาไม่มีบีชการ์ดที่คอยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนสนเรื่องของสถานีอนามัย ระบบการขนส่งผู้ป่วย และการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ได้รับปัญหาดังกล่าวไปประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตบนเกาะราชา โดยจะมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจไม่ให้นักท่องเที่ยวที่มีโรคประจำตัว ร่างกายไม่พร้อม หรือรับประทานอาหารอิ่มมากๆ ลงไปเล่นน้ำโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับไปยังบริษัททัวร์ และไกด์ ในการเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ลงไปเล่นน้ำถ้าเห็นว่าอันตราย หรือไม่ปลอดภัย และจะต้องจัดไกด์ให้เหมาะสมกับจำนวนนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งประสานกับทาง อบจ.ให้การจัดให้มีบีชการ์ดที่เกาะราชา และประสานกับทางทัพเรือภาค 3 ในการช่วยเหลือด้วย
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังการหารือร่วมกัน ว่า การลงมาเกาะราชาในวันนี้พร้อมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิต ที่ทางภาคประชาชนและผู้ประกอบการได้ร้องเรียนไปยังจังหวัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าในรอบ 12 เดือน มีนักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตที่เกาะราชาแล้ว 7 คน ซึ่งการลงมาพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้มาแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น การแก้ปัญหาบนเกาะราชาจะต้องดำเนินการเป็นเพ็กเก็จ แก้ไปพร้อมๆ กันในหลายเรื่องๆ
โดยในส่วนของปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตนั้น จะดำเนินการทั้งในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังในการลงเล่นน้ำ กำชับบริษัททัวร์ และไกด์ ในการดูแลและแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ต้องไม่ปล่อยให้ลูกทัวร์ลงไปเล่นน้ำหากคลื่นสูง และทางจังหวัดจะประสานไปยัง อบจ.ภูเก็ต ในการเพิ่มบีชการ์ดที่เกาะราชาเป็นหาดที่ 14 จากที่มีอยู่แล้ว 13 หาด จำนวน 108 คน ซึ่งหากมีบีชการ์ดจะสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้ทันท่วงที แก้ปัญหานักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตได้ เพราะการมีบีชการ์ดจะสามารถรักษาชีวิตของนักท่องเที่ยวได้ เพราะจากสถิติจะเห็นว่าในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา บีชการ์ดสามารถช่วยนักท่องเที่ยวที่จมน้ำได้กว่า 500 ชีวิต
นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังจะเข้ามาดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัย ที่ทางภาคประชาชนต้องการให้หน่วยเกี่ยวกับพยาบาลเข้ามาอยู่ในพื้นที่ จากที่ขณะนี้มีประชาชน พนักงานโรงแรม และนักท่องเที่ยวอยู่บนเกาะ วันละประมาณ 700 คน เรื่องนี้จะต้องมีการประสานกับทางสำนักงานสาธารณสุขภูเก็ต และทัพเรือภาค 3 ในการขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ และหากเป็นไปได้ก็จะมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านชั่วคราวตามระเบียบของกรมการปกครอง เพื่อให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ในหลายๆ เรื่อง
และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมบนเกาะราชา ทั้งน้ำเสีย ปะการัง ทุ่นผูกเรือไม่เพียงพอ ทำให้มีการทอดสมอลงบนแนวปะการัง มีการสอนดำน้ำในแนวปะการัง เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีคณะทำงานของเกาะราชา ที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเป็นประธานอยู่แล้ว จะมีการประชุมทุก 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการนำปัญหาทั้งหมดของเกาะราชาเข้าสู่การประชุมวาระยามเช้าของทางจังหวัดอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้