xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางบ้านตระ จ.ตรัง โวยไม่ได้สิทธิช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณยายคล้อย นานช้า ชาวสวนยางวัย 75 ปี ซึ่งยังคงกรีดยางพาราด้วยตัวเอง
ตรัง - ชาวบ้านตระ บุกสำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน พร้อมใจขนผลผลิต อุปกรณ์เกษตร และเอกสารสำคัญมาแสดงยืนยันที่ทำกิน เพื่อขอสิทธิรับเงินปัจจัยการผลิต ขู่หากภาครัฐไม่สนเตรียมเดินหน้าเคลื่อนไหว

วันนี้ (28 ก.ย.) นายพนา ฤทธิสาคร และนายล่อง เพชรสุด แกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ชุมชนบ้านตระ หมู่ที่ 2 ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง พร้อมสมาชิกเครือข่ายประมาณ 70 คน จาก 62 ครัวเรือน ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน และเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอปะเหลียน พร้อมกันนั้น ยังนำผลผลิต และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น ลางสาด ลองกอง ยางพาราแผ่นดิบ พร้อมอุปกรณ์มีดกรีดยางพารา ตะเกียงสำหรับใช้ส่องสว่างกรีดยางพารา เสื้อกรีดยางพารา เพื่อเป็นการยืนยันว่า ชาวบ้านชุมชนบ้านตระทุกคน ได้ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมายาวนานแล้วจริงๆ เพียงแต่ที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารสิทธิ และอยู่ระหว่างการจัดทำออกเป็นโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเอกสารสำคัญต่างๆ มาแสดงยืนยันต่อทางเจ้าหน้าที่ด้วย เช่น สำเนาใบสำคัญเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5), สำเนาใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีบำรุงท้องที่จาก อบต.ปะเหลียน, เอกสารบันทึกตรวจสอบแนวเขตพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านตระ, เอกสารแจ้งมติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาล, หนังสือรับรองการทำกินในพื้นที่ชุมชนบ้านตระรายบุคคลที่ อบต.ปะเหลียน ออกให้, สำเนาแผนที่โฉนดชุมชนบ้านตระ เป็นต้น

นายพนา แกนนำชาวชุมชนบ้านตระ กล่าวว่า พวกตนทั้ง 62 ครัวเรือน หรือประมาณ 300 คน แม้จะอาศัยอยู่บนเทือกเขาบรรทัด พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดตรังกับพัทลุง แต่เป็นเกษตรชาวสวนยางพารามาอย่างยาวนานแล้ว ฉะนั้น จึงสมควรที่จะได้รับสิทธิการช่วยเหลือสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากทางรัฐบาล ไร่ละ 2,520 บาท เช่นเดียวกับเกษตรชาวสวนยางพารากลุ่มอื่นๆ เพราะทุกคนก็เสียภาษีจากการขายยางพาราให้แก่ทางรัฐบาลเหมือนกัน โดยไม่ได้มีการละเว้น ถึงแม้พื้นที่สวนยางพาราจะกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อรับรองการทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีชาวชุมชนบ้านตระ จำนวนกว่า 20 ราย ไม่มีใบ ภบท.5 พวกตนจึงเสนอให้เจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนเป็นแบบระบบชุมชน ตามหลักการออกโฉนดชุมชน เนื่องจากพวกตนทั้งหมดทำกินอยู่ในพื้นที่แปลงเดียวกันทั้งหมด หากผิดก็ผิดเหมือนกัน หากถูกก็ถูกเหมือนกัน แต่หากสุดท้ายแล้วพวกตนไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นแบบระบบชุมชนได้ทั้งหมด ก็จะไปหารือกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งมีทั้งหมด 12 องค์กร เพื่อขอมติเดินหน้าเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจากทางรัฐบาลต่อไป

ด้านคุณยายคล้อย นานช้า อายุ 75 ปี ซึ่งยังสภาพร่างกายแข็งแรงมาก และยังลุกขึ้นไปกรีดยางพาราด้วยตัวเอง ระบุว่า เมื่อตนได้รับที่ดินที่ถือครองจากคุณพ่อ จึงนำมาปลูกยางพารา และเคยโค่นไปแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนจะมาปลูกใหม่ และได้กรีดเป็นครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น ควรมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิการช่วยเหลือสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากทางรัฐบาลด้วย เนื่องจากได้ทำสวนยางพารามาอย่างยาวนานแล้วจริงๆ

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น