xs
xsm
sm
md
lg

“สมัชชาชาวหาดใหญ่” ปลุกพลเมืองตื่นรู้ ผนึกกำลังดูแลท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
หลังจาก ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2555 โดยระบุว่า จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของเทศบาลนครหาดใหญ่ในรูปแบบของ “สมัชชา” ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตรวจสอบ ในฐานะเจ้าของบ้านเมือง “สมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่” ก็ค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างขึ้น

โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ และคณะอนุกรรมการบริหารสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ขึ้นจากตัวแทนภาคประชาชน (ดูรายชื่อคณะกรรมการสมัชชาฯ ได้ที่นี่) และจัดแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่

1.อนุกรรมการบริหารสมัชชาฯ
2.อนุกรรมการวิชาการสมัชชาฯ
3.อนุกรรมการประเมินผลสมัชชาฯ
4.อนุกรรมการขับเคลื่อนสมัชชาฯ
5.อนุกรรมการสื่อสารสมัชชาฯ

สำหรับหลักการโดยพื้นฐานนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบิหารงานของเทศบาลนครหาดใหญ่ใน 5 ระดับ คือ

1.การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา และสาเหตุของปัญหาในชุมชน ตลอดจนกำหนดความต้องการ และจัดลำดับความสำคัญของความต้องการดังกล่าว

2.การมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนา และกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ของโครงการ กำหนดวิธีการ และแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งกำหนดทรัพยากร และแหล่งทรัพยากรที่นำมาใช้

3.การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานพัฒนา ทั้งการสนับสนุนทรัพย์ วัสดุอุปกรณ์ และแรงงาน หรือเข้าร่วมบริหารงาน ประสานงาน และขอความช่วยเหลือจากภายนอก

4.การมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ทั้งทางด้านวัตถุ และด้านจิตใจ

5.การมีส่วนร่วมในการประเมินผลการพัฒนาว่าสำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด
 

 
“หลักการใหญ่ คือ กระบวนการมีส่วนร่วม ให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ยกระดับตัวเองไปสู่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่จะได้ช่วยกันออกมาดูแลชุมชน ดูแลปัญหาสังคม หรือช่วยกันพัฒนาสังคมของตัวเองบนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง” นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานกรรมการสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ กล่าวในงานเวทีเสวนาสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ “คนหาดใหญ่กำหนดอนาคตตนเอง” ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2556 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนใน อ.หาดใหญ่ เข้าร่วมงานจำนวนมาก

“องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นองค์กรที่เล็กที่สุด และใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรใช้หลักการประชาธิปไตยเบื้องต้นดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น พบปะหารือ และร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นพลเมืองของชาวหาดใหญ่ ไม่ใช่ยอมให้ผู้ปกครองท้องถิ่นใช้อำนาจดำเนินการอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นไปโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อยู่บนพื้นฐานของการเคารพกันและกัน พลเมืองจะต้องตื่นตัว และเลือกผู้บริหารที่มีคุณภาพมาบริหารเมืองหาดใหญ่ เพื่อนำไปสู่การจัดการอนาคตตนเอง” ประธานกรรมการสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ ขยายความ

หลายๆ ครั้ง คำว่า “ประชาธิปไตย” หรือแม้กระทั่งคำว่า “การมีส่วนร่วม” ดูเป็นนามธรรมไกลตัว และเข้าถึงได้ยาก แต่นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ อธิบายว่า กระบวนการของ “สมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่” จะเริ่มต้นจากให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่นำปัญหาของชุมชนเข้ามาพูดคุยกัน แล้วค่อยๆ พัฒนาไปสู่การเป็น “พลเมือง” คือ เน้นให้รู้จักความเป็นเจ้าของบ้านเมือง รู้จักสิทธิหน้าที่ ในที่สุดให้คนเหล่านั้นก็จะตระหนักว่า การจะพัฒนาชุมชนของโดยการใช้องค์กรปกครองท้องถิ่น จำเป็นต้องให้ความสำคัญด้วยการเลือกคนดีๆ เข้ามาทำงาน ซึ่งในสิ่งต่างๆ นี้เป็นเรื่องของความยั่งยืน แม้ว่าจะต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม แต่ก็คิดว่าจะเป็นไปได้

“ผมจึงคิดว่าเวทีสมัชชาฯ ตรงนี้จะพัฒนาไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยได้ นี่คือเป้าหมายสูงสุดที่เราต้องการ เริ่มจากปัญหาที่ใกล้ตัวเขา แล้วก็พัฒนาเขา ยกระดับเขา แล้วในที่สุดเขาจะรู้สึกว่า เขานี่แหละคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบชุมชนของตัวเอง” ประธานกรรมการสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ ระบุ
 

 
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ซึ่งมาร่วมเสวนาในงานเดียวกัน กล่าวว่า เราอยากเห็นสมัชชาประชาชนเป็นของชาวหาดใหญ่ ไม่ใช่ของเทศบาล เทศบาลเป็นเพียงเจ้าภาพที่จัดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น จากนั้น เทศบาล นายอำเภอ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ควรจะจัดสรรนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางที่คนหาดใหญ่ต้องการ ทั้งนี้ คาดว่าหาดใหญ่เป็นเทศบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้รูปแบบสมัชชา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้าน นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าสงขลา ซึ่งร่วมเสวนาด้วย กล่าวว่า มีปัจจัย 3 ส่วนที่ส่งเสริมการทำงานของสมัชชาฯ คือ

1.ประชาชน หรือพลเมือง คือ มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของของเมืองไหม อยากแก้ปัญหาไหม ฝันไปด้วยกันหรือเปล่า

2.ถ้าพลเมืองฝัน และอยากจะทำ อยากแก้ปัญหา แล้วกลไกขับเคลื่อนเมือง หมายถึงหน่วยงานต่างๆ ทำได้จริงหรือไม่ กล้าลงมือทำหรือไม่

3.การจัดการความสัมพันธ์ทางการเมือง ถ้าพลเมืองฝันอยากทำ แต่มีความขัดแย้งทางการเมืองก็ไปต่อไม่ได้ ต้องจัดการความสัมพันธ์ทางการเมืองตั้งแต่เริ่มต้น

ผศ.ดร.พงศ์เทพ กล่าวเสริมอีกว่า เราต้องมาร่วมกันคิดว่าจะทำให้หาดใหญ่พัฒนาไปอย่างไร เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นเราจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร โดยหลักการของสมัชชาทั่วโลก จะใช้งานข้อมูล หรือใช้ปัญญาในการแก้ไข สำหรับสมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่ จะมี ม.อ.เป็นพี่ใหญ่ดูแลด้านข้อมูล ทำงานวิชาการ ทำวิจัยว่าจะทำอย่างไรให้การพัฒนาเมืองบรรลุตามเป้าหมาย

“อาจมีวงเล็กๆ นั่งคุยกันว่า เรื่องจราจรเอายังไง เรื่องน้ำท่วมเอายังไง แล้วหาฉันทมติมาคุยกันในวงใหญ่ จากนั้นหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องคิดว่าแต่ละหน่วยงานจะทำอะไรในบทบาทของตัวเอง เพื่อส่งเสริมกันและกันได้บ้าง หรือเสนอว่าให้หน่วยงานไหนทำอะไรตามหน้าที่ของตนเอง หอการค้าทำอะไร ภาคประชาชนทำอะไร นักวิชาการทำอะไร”

ด้านนางพิชยา แก้วขาว ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า สมัชชาเป็นการประชุมอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วม เราต้องฝึกถาม ฝึกตอบ ค่อยๆ คุยกัน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ นำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน แล้วรวบรวมความคิดเห็นมาร่วมหาทางออกด้วยกัน ต้องจัดเวทีการบ่นให้มีคุณภาพ บ่นแล้วช่วยคิดว่าจะแก้ยังไง คนหาดใหญ่ หรือคนที่มาเยี่ยมเมืองหาดใหญ่ก็มีส่วนช่วยคิดว่าจะแก้ปัญหายังไง การบ่นอย่างมีคุณภาพจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน บ่นกันต่อหน้า และช่วยกันแก้ ไม่กระทบใคร เพราะทุกฝ่ายมาร่วมกันคิด ร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่ากระทบใครตรงไหนบ้าง ทุกคนถูกใจ ทุกคนยอมรับ ถือเป็นทางออกที่ดี
 

 
สำหรับประเด็นปัญหาที่ชาวหาดใหญ่มีความกังวล และอยากให้เร่งแก้ไข ได้แก่ ปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร รวมทั้งรถทัวร์ท่องเที่ยวที่ไม่มีการจัดระบบโซนนิ่ง จึงมักจะจอดกันตามใจชอบ รวมทั้งปัญหาการจราจรติดขัดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล สร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ

นอกจากนี้ ก็มีปัญหาเรื่องสถานเริงรมย์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อนักท่องเที่ยว ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำมันเถื่อนเกลื่อนเมือง และอาจมีคนในเครื่องแบบรู้เห็นด้วย

พร้อมกันนี้ มีผู้ร่วมงานเสนอนว่า ควรจัดให้มีช่องทางที่สามารถติดต่อคณะกรรมการสมัชชาได้อย่างสะดวก และควรจัดให้มีการรายงานการประชุมต่อประชาชนอย่างทั่วถึงผ่านทางวิทยุ

ท้ายที่สุด นายสมพร ใช้บางยาง กล่าวปิดงานเสวนาฯ ว่า คนหาดใหญ่ต้องยกระดับตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน รู้สิทธิหน้าที่ คณะกรรมการเป็นเพียงเครื่องมือของประชาชนในการสะท้อนความต้องการ และวิเคราะห์เสนอแนะแนวทางต่างๆ ที่ประชาชนเสนอมาจากหลายๆ ช่องทาง ความสำเร็จจึงอยู่ที่ความเป็นพลเมืองของชาวหาดใหญ่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงเด็ดขาด

“ถ้าเราเข้าใจบทบาทของตัวเอง และพยายามเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเชื่อว่าถ้าได้พัฒนากระบวนการ และวิธีคิด ก็จะเห็นพลังความเป็นพลเมืองของชาวหาดใหญ่อย่างแท้จริง เราไม่กีดกันใคร อยากเห็นคนหาดใหญ่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

การที่เราเปิดเวทีตรงนี้ เราพบว่ามีอีกหลายปัญหาที่ท้องถิ่นยังไม่รู้ แต่ประชาชนสามารถบอกเราได้ หลายเรื่องเขาไม่สามารถที่จะพูดกับฝ่ายบริหารได้ เขาต้องมีเวทีแสดงออกถึงความต้องการของเขา และเราจะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปให้ผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหา หรือปฏิบัติต่อไป”

** ติดตามข้อมูล “สมัชชาประชาชนนครหาดใหญ่” ได้ที่ www.hatyaipeopleassembly.com
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น