ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นายอำเภอกะทู้ เดินหน้าบูรณาการร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ออกกวดขันจับกุมผู้ลักลอบนำสัตว์ป่าคุ้มครองมาหากินกับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว หลังดาราชื่อดังชาวต่างชาตินำภาพโพสต์ลงเฟซบุ๊ก
จากกรณีที่ โรบิน ริฮานนา เฟนตี นักร้องชื่อดังระดับโลกได้มาท่องเที่ยวที่ ซ.บางลา หาดป่าตอง แล้วถ่ายภาพคู่กับนางอายเอาไปลงในอินสตาแกรมของตนเอง และเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ว่าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ยังปล่อยให้มีการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) นั้น
ล่าสุด วันนี้ (25 ก.ย.) นายวีระ เกิดสิริมงคล นายอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ทางราชการให้ความสนใจ เพราะแหล่งข่าวมาจากนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์ของโลก ได้เผยแพร่ในทวิตเตอร์ของเขาซึ่งมีผู้ติดตามถึง 31.7 ล้านคน และในเฟซบุ๊กที่ยังมีการโพสต์เรื่องสัตว์ป่าคุ้มครองที่เขามาถ่ายภาพคู่ในซอยบางลา โดยภาพดังกล่าวถูกโพสต์ขึ้นหลังจากที่เขามาเที่ยวในซอยบางลา จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 20 และ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา และโพสต์เรื่องนี้ลงไปจนมีผู้ติดตามในขณะนี้ 2 แสนกว่ารายเข้ามากดไลก์ และวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา
อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอกะทู้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะก่อนหน้านี้ทางจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มีนโยบายให้เข้มงวด และกวดขันเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งทุกหน่วยงานตอนนี้ตื่นตัวพร้อมดำเนินการกวดขันจับกุมเต็มที่อยู่แล้ว
การนำสัตว์มาถ่ายภาพนั้นต้องยอมรับว่ามีอยู่ทุกที่ในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพัทยา สมุย พะงัน หรือแม้แต่เชียงใหม่ ไม่ทราบเริ่มต้นจากความคิดของใคร แต่เกิดขึ้นเพราะมีอุปสงค์จึงต้องมีอุปทาน ถ้าไม่มีผู้อยากถ่ายเองก็ไม่มีผู้สนอง ฉะนั้นมันจึงมองเป็นธุรกิจหนึ่งประกอบการท่องเที่ยวไปแล้ว เพราะมีอยู่ทุกที่ แต่อำเภอ หรือจังหวัดไม่ได้ส่งเสริม มีการกวดขันเต็มที่ หากพบการกระทำผิดก็มีการจับกุมทันที แต่ผู้กระทำผิดก็มีการปรับตัว และระแวดระวังตัวเต็มที่หลังจากที่เจ้าหน้าที่มีการกวดขันจับกุม ซึ่งก่อนหน้านี้ พบว่ามีจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเริ่มมีจำนวนลดลง
ส่วนกลุ่มผู้กระทำผิดนั้นเชื่อว่ามีนายทุนอยู่เบื้องหลังเพราะอย่างเช่นราคาสัตว์ที่นำมาถ่ายภาพนั้นมีราคาสูง เช่น อีกัวนา ราคาอยู่ที่ตัวละ 3-4 หมื่นบาท ลิงลม หรือนางอาย ก็มีราคาแพง เชื่อว่าจะต้องมีการลงทุนนำสัตว์เข้ามา และว่าจ้างผู้ที่จะนำสัตว์มาถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวอีกทอดหนึ่ง โดยผู้ต้องหาที่จับกุมได้นั้นส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง แต่เมื่อสอบสวนพบว่าไม่เคยสาวถึงนายทุนเลย ลูกจ้างเหล่านี้มักจะอ้างว่าซื้อ หรือจับสัตว์มาเอง แต่จริงๆ แล้วเชื่อว่ามีนายทุนอยู่เบื้องหลังแน่นอน ด้านการกวดขันจับกุมพบปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่มีการออกกวดขันจับกุมในกลางคืน กลุ่มผู้กระทำผิดก็จะออกมาทำงานในตอนกลางวันแทน โดยจะสลับเวลาทั้ง เช้า บ่าย เย็น และดึก เจ้าหน้าที่จึงจะต้องปรับแผนการออกตรวจตรากวดขันสลับช่วงเวลาทั้งกลางวัน และกลางคืนเช่นกัน ซึ่งเป็นไปในลักษณะไล่ตีจับ
สำหรับราคาต่อครั้งในการนำสัตว์ป่ามาถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวจะอยู่ระหว่าง 300-500 บาท หรือบางครั้งอาจจะสูงถึง 1,000 บาท ถือเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี จึงยังคงมีการลักลอบนำสัตว์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโทษทางกฎหมาย สามารถดำเนินคดีได้เพียงข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ฐาน “ค้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งตามกฎหมายมีโทษปรับเพียงเล็กน้อย ถือว่าไม่หนัก ผู้ต้องหารายเดิมจึงมีการวนเวียนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก เพราะรายได้ที่สูงเป็นตัวล่อ
นอกจากนี้ นายอำเภอกะทู้ ได้เรียกร้องไปยังผู้ที่ยังทำผิดกฎหมายว่า ขอให้หยุดการกระทำเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สัตว์ป่า เกิดขึ้นมากมาย การกระทำแบบนี้จึงเกิดผลเสียในด้านลบมากกว่า