ด้วยสภาพพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูก “ลองกอง” และมากมีพันธุ์ไม้จำพวกกก เช่น “กระจูด” ประกอบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นิยมเลี้ยง “นกเขาชวาเสียง” และใช้ “เรือกอและ” ในการประกอบอาชีพ จังหวัดนราธิวาส จึงได้นำความเด่นของทั้ง 4 สิ่ง มารวมกันในงาน “ของดีเมืองนรา” และถือเป็นประเพณีที่จังหวัดนราธิวาสจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดภาคใต้ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่เป็นประจำทุกปี ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จึงได้ร่วมกันจัดงานประเพณีของดีเมืองนราต่อเนื่องกันมา ในระหว่างวันที่ 21-25 กันยายนของทุกปี และในปี 2556 นับเป็นปีที่ 38 ของการจัดงาน
โดยในวันที่ 21 กันยายน 2556 ก่อนที่จะมีพิธีเปิดงาน “ของดีเมืองนรา” ริ้วขบวนแห่แสดงอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของประชาชนชาวนรา จากทั้ง 13 อำเภอ และหน่วยราชการต่างๆ รวม 25 ขบวน จะเดินโชว์ความยิ่งใหญ่ ตระการตา และบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ประจำถิ่นของแต่ละสถานที่ รอบตลาดในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ไปยังสถานที่จัดงาน คือ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (สวน ร.5) บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส
ขณะที่งาน “วันลองกอง” ก็จะไปจัดแสดงที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (สวน ร.5) เช่นกัน ในระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน 2556 เพื่อร่วมสืบสานตำนานลองกองซีโป ลองกองตันหยงมัส ที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน ให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นด้วยการนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาเสริมด้านการแปรรูปผลลองกองเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น
สำหรับลองกอง คือ เพชรน้ำหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส มีถิ่นกำเนิดที่บ้านซีโป ต.เฉลิม อ.ระแงะ ลองกองนราธิวาส เป็นผลไม้คุณภาพดี และมีชื่อเสียง มีคุณสมบัติเด่น คือ เมื่อผลสุกจะมีรสชาติหอมหวาน และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้จังหวัดนราธิวาส ปีละหลายร้อยล้านบาท
งานวันลองกอง ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยภายในงานจะมีการประกวดผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ลองกอง เงาะ ทุเรียน มังคุด มะพร้าวน้ำหอม สะตอ และพืชผักต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ทุเรียนกวน และสะตอดอง อีกทั้งมีการประกวดบอนสี และจำหน่ายผลิตผล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในราคาย่อมเยาอีกด้วย พร้อมกันนี้ ผู้ไปร่วมงานยังจะมีโอกาสได้ชมความงามของพรรณไม้นานาชนิด และที่ขาดไม่ได้คือ การชมพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะนำมาเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งปีนี้จะมี “ข้าวโพดสีม่วง” มาโชว์ให้ชมกัน
นอกจากนี้ ในงานวันลองกอง ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานในโครงการพระราชดำริ และภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ขณะที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จะมาสาธิตการแปรรูปผลผลิตลองกอง เป็นน้ำลองกอง และแยม เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้ในการแปรรูปผลิตผลเพื่อสร้างรายได้ต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (สวน ร.5) บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส ยังเป็นสถานที่จัดงาน “ศิลปาชีพและงานกระจูด” ที่มีทั้งการประกวด และการแข่งขันผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ รวมถึงมีการจัดนิทรรศการงานศิลปาชีพ และงานกระจูด ภายใต้ชื่อ “ศิลปาชีพเมืองนรา ภูมิปัญญาก้าวไกล เทิดไท้องค์ราชินี” โดยจัดในรูปแบบสวนศิลปาชีพ โชว์ผลิตภัณฑ์เด่น ใหญ่ ประกอบด้วย เรือกอและ จำนวน 2 ลำ, ธงชาติที่ทำจากผ้าทอ ความยาว 111 เมตร ของสมาชิกศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าวัดพระพุทธ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ, ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระจูด ประกอบด้วย เสื่อกระจูดลาดพระบาท กระเป๋า ตะกร้า กล่อง และซองกระจูด ของกลุ่มกระจูด ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส และเซรามิกลายสวยงาม ของศูนย์ศิลปาชีพพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
สำหรับกระจูด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articalata เป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” (Sedge) มีถิ่นกำเนิดจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเชียส ลังกา สุมาตรา แหลมมลายู และหมู่เกาะต่างๆ ในแหลมมลายู อินโดจีนตอนริมฝั่งทะเล ฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดถึงออสเตรเลีย ริมฝั่งตะวันออก
กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขัง ซึ่งเรียกว่า โพระ หรือพรุ ซึ่งมีมากในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ต้นกระจูด เมื่อนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท สามารถนำมาผลิตงานจักสานเป็นเสื่อปูรองนั่งที่เรียกกันว่า “เสื่อกระจูด” หรือ “สาดกระจูด” โดยการสานเสื่อกระจูดโดยทั่วไปนิยมสานลวดลาย มาตรฐาน คือ ลายขัดสอง หรือลายขัดสาม และมีการพัฒนาดัดแปลงลวดลาย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายดอกจัทนทร์ ลายก้านต่อดอก ลายโคม ลายแก้วเนื่อง ลายแก้วบ้านดอน ลายตัวหนังสือ เป็นต้น และมีการนำกระจูดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สายกระเป๋าเครื่องใช้ต่างๆ ใช้ทำใบเรือ หรือทำเชือกผูกมัด ผลิตภัณฑ์กระจูด จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้
การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูด ได้เริ่มทำอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2524 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเสื่อจูด เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างส่งให้แก่โรงงานทำผลิตภัณฑ์เสื่อจูดของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามโครงการพระราชดำริ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรชนบทภาคใต้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากขึ้น
รูปแบบผลิตภัณฑ์กระจูดที่พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นลักษณะการตัดเย็บจากเสื่อจูด เย็บริมด้วยผ้า หรือหนังแท้ และหนังเทียม แล้วนำมาสอยติดกันขึ้นรูปทรงต่างๆ เช่น กระเป๋า แฟ้ม หมวก กรอบรูป ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น คือ การใช้เส้นกระจูดควั่นเกลียวเชือก นำมาสานเป็นพนักพิงและพื้นรองนั่งเก้าอี้เครื่องเรือน ตลอดจนการใช้เสื่อจูดบุผนังตกแต่งภายในอาคาร หรือทำแผงกั้นห้องแบบฉากกั้นพับได้ เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ชื่นชอบ และชื่นชมการประชันเสียงนกเขาชวา ต้องไม่พลาดติดตามการจัดงาน สำหรับประวัติการจัดงานประชันเสียงนกเขาชวาของจังหวัดนราธิวาส งาน “ประชันนกเขาชวาเสียง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (สวน ร.5) บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 23 และ 24 กันยายน 2556 ซึ่งจะมีการประชันนกเขาชวาเสียง 4 ประเภทเสียง คือ ประเภทเสียงใหญ่ ประเภทเสียงกลาง ประเภทเสียงเล็ก และประเภทดาวรุ่ง
ทั้งนี้ การนำนกเขาชวาเสียงมาประชันกัน เป็นความคิดริเริ่มของนายเซ็ง เจ๊ะมะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านเขาตันหยง ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ที่ได้จัดให้มีงานประชันเสียงนกเขาชวา โดยใช้สถานที่บริเวณตรงข้ามหน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นที่ดำเนินการ และได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในงาน และพระราชทานฯ รางวัลแก่เจ้าของนกที่ชนะเลิศในแต่ละประเภท เมื่อปี 2526
ปรากฏว่า มีประชาชนในเขตจังหวัดนราธิวาส จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้านให้ความสนใจส่งนกเขาชวาเข้าร่วมการประชันเสียงเป็นจำนวนมาก จังหวัดนราธิวาส ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเพณีดังกล่าว จึงลงมติให้ดำเนินการประชันเสียงนกเขาชวาต่อไป โดยให้ทางราชการ ร่วมกับพ่อค้า ประชาชนกลุ่มต่างๆ ดำเนินการจัดการประชันเสียง และกำหนดให้เป็นกองงานหนึ่งในงานของดีเมืองนรา จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกันยายน โดยครั้งนี้นับเป็นการจัดประชันเสียงครั้งที่ 31
ขณะที่งาน “แข่งขันเรือกอและ เรือยาว เรือยอกอง และเรือคชสีห์นานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทานหน้าพระที่นั่ง” ซึ่งจัดที่บริเวณริมเขื่อนท่าพระยาสาย ริมแม่น้ำบางนรา ในระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน 2556 ถือเป็นอีก 1 กองงานในงาน “ของดี เมืองนรา” ที่ได้รับความสนใจอย่างเนืองแน่นจากประชาชนในทุกปี
โดยในวันที่ 25 กันยายน ซึ่งเป็นวันชิงชนะเลิศเรือแต่ละประเภทนั้น จะมีการจัดแสดงขบวนแห่เรือบุปผชาติทางน้ำ ประกอบการร้องเพลงแห่เรือ และการแสดงศิลปะพื้นบ้าน สลับกับการแข่งขันเรือ ซึ่งในปีนี้มีเรือเข้าร่วมทำการแข่งขันรวม 47 ทีม แบ่งเป็น เรือกอและ 18 ทีม เรือยาว 5 ทีม เรือยอกอง 5 ทีม เรือคชสีห์นานาชาติ 19 ทีม และมาเลเซีย ส่งเรือเข้าแข่งขัน 8 ทีม
ทั้งนี้ เรือกอและ เป็นเรือประมงที่ใช้แถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งรัฐกลันตัน และตรังกานู ในประเทศมาเลเซีย ลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดาน โดยทำให้หัวเรือส่วนท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงาม และนิยมทาสีเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาด เป็นลายไทย หรือลายอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับลำเรือ
นอกจากเรือกอและ จะถูกใช้งานสำหรับทำการประมง หรือเป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว ในยามคลื่นลมสงบ ชาวพื้นเมืองจะนำเรือกอและมาใช้ประโยชน์ทางด้านการพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการนำมาพายแข่งขัน เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว จนกลายมาเป็นเทศกาลประจำท้องถิ่น
ส่วนเรือยาว คือ เรือแข่งที่แถบชาวบ้านลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใช้แข่งกัน ทำมาจากท่อนซุงทั้งต้น การต่อเรือยาวต้องใช้ความรู้ ความชำนาญมาก จึงจะได้เรือที่สวย และแล่นได้เร็วเวลาพาย
สำหรับเรือยอกอง หรือที่ชาวนราธิวาสเรียกว่า “คอฆอล” ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะของเรือ เพราะมีขนาดไม่เล็ก และไม่ใหญ่ แต่มีความสวยงามมาก จากการทาสีตกแต่งลวดลายอันประณีตบรรจง จัดเป็นเรือประมงอีกประเภทหนึ่งของชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ การแข่งขันเรือยอกอง ได้เริ่มใน พ.ศ.2523 และได้หยุดไประยะหนึ่ง แล้วจึงมีการจัดการแข่งขันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา
ขณะที่เรือคชสีห์ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์จริง และสัตว์ในเทพนิยาย
มนต์เสน่ห์ในยามว่างของวิถีชุมชนในเมืองนรา ไม่ว่าจะเป็นการจัดแข่งขันเรือ เพื่อผ่อนคลายจากการประกอบอาชีพ หรือการรับฟังความไพเราะจากการประชันเสียงนกเขาชวา ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ที่รอให้หลายคนได้ไปสัมผัส ขณะที่การเพิ่มองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ลองกองซีโป หรือลองกองตันหยงมัส ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์จากกระจูด และผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จะช่วยให้สินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
การมาร่วมงาน “ของดีเมืองนรา” ระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน 2556 จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ หากแต่ยังก่อให้เกิดการสร้างงาน และรายได้ที่ดีอีกด้วย