xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายยาง 16 จังหวัดวงแตก! ไม่ลงนาม MOU แก้ราคายาง อัดผู้ลงนามมีแต่นักการเมืองท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - วงแตก! ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด บางส่วนไม่ยอมลงนามในข้อตกลงแก้ปัญหายางพารา เผยไม่มั่นใจในตัว พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ พร้อมอัดผู้ลงนามมีแต่นักการเมืองท้องถิ่น

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (14 ก.ย.) ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ได้เดินทางมาตามนัดหมายเพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับแกนนำภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย 14 จังหวัดภาคใต้ และรวม จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี ด้วย

ทั้งนี้ หลังจากที่แกนนำภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด ซึ่งนำโดย นายอำนวย ยุติธรรม แกนนำภาคีเครือข่าย นายศักดิ์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฝั่งอันดามัน และนายกาจบัณฑิต รามมาก ผู้ประสานงานจาก จ.สงขลา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลส่งผู้แทนที่มีอำนาจลงนามมาร่วมทำบันทึกข้อตกลงกับแกนนำทั้ง 16 จังหวัด ตาม 5 ข้อตกลงที่ได้เสนอให้รัฐบาลก่อนหน้านี้อีกครั้ง

 
โดยบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ระหว่าง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการ และเลขานุการ ตัวแทนภาคีเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด และตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีรายละเอียดว่า ภาคีเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ยอมรับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2526 โดยเฉพาะในการจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิต จำนวน 2,520 บาทต่อไร่ ให้แก่เกษตรกร

นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ทางราชการจะเร่งรัดในการลงทะเบียน และตรวจสอบความถูกต้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยจะลดขั้นตอนกระบวนการที่ไม่จำเป็นเพื่อจะจ่ายเงินให้เกษตรกรได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ทางราชการจะเร่งรัดติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่ได้รับผลกระทบในระหว่างการชุมนุม โดยมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ ทางราชการจะอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีที่ชุมนุมเรียกร้องราคายางพารา ระหว่างวันที่ 2 ส.ค.-4 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ภาคีเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องยินดีให้ความช่วยเหลือกับส่วนราชการ และประสานงานอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และรวดเร็ว รวมทั้งจะต้องร่วมประสานงานและชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรให้เข้าใจถึงการช่วยเหลือของรัฐบาล และให้ความร่วมมือกับส่วนราชการในการแก้ไขปัญหา และยุติการดำเนินการใดๆ ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และไม่สนับสนุนให้กลุ่มใด บุคคลใดกระทำเช่นเดียวกัน

ด้านนายอำนวย ยุติธรรม ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด ได้ฝากให้รัฐบาลปรับปรุงรายละเอียดการช่วยเหลือ จากครอบครัวละ 25 ไร่ เป็นรายละ 25 ไร่ เพราะเกรงว่ามีปัญหากับครอบครัวใหญ่ รวมถึงให้ทบทวนเรื่องของเอกสารสิทธิ และทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งภายหลังการช่วยเหลือในระยะสั้นดำเนินการเสร็จสิ้น เกษตรกรชาวสวนยางพาราจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นในวันที่ 1 มิ.ย.2557 ซึ่งเป็นช่วงการเปิดกรีดยางพารา กลุ่มเกษตรกรจะออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกครั้ง

 
ขณะที่นายศักดิ์สฤทธิ์ ศรีประศาสตร์ ผู้ประสานงานฝั่งอันดามัน ระบุว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องของชาวสวนยางนั้น เป็นการสะท้อนถึงมาตรฐานของรัฐบาลได้ ถ้าเป็นเรื่องข้าว แม้เกษตรกรเพียงไม่กี่ร้อยคนมาประท้วง รัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนราคาจำนำจาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท ได้อย่างง่ายดาย และการช่วยเหลือขณะนี้อนุมัติงบไปแล้วราว 8 แสนล้านบาท แต่กับเกษตรกรชาวสวนยาง มาวันนี้ไม่ถึง 3.5 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำ ทั้งที่ลำบากยากแค้นเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมหารือเพื่อทำข้อบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึงเวลา 14.00 น. ยังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ โดยทางตัวแทนฝ่ายรัฐบาลได้เริ่มเปิดฉากลงนามในบันทึกข้อตกลงก่อนทันที โดยผู้ที่ยอมลงนามมี 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส ส่วนที่ไม่ยอมลงนามมี 11 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เพราะไม่เชื่อว่า พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ และไม่น่าจะมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ และยังระบุว่าฝ่ายที่ยอมทำบันทึกข้อตกลงนั้นไม่ใช่เกษตรกรชาวสวนยางตัวจริง แต่เป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นการสมยอมกันในทางการเมือง และเห็นว่ารัฐบาลอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เนื่องจากรัฐบาลอาจมีอายุไม่เกินเดือนตุลาคมนี้

 
หลังจากนั้น ตัวแทนเกษตรกร 11 จังหวัดได้ร่วมกันแถลงข่าวทันที โดยนายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ผู้ประสานงานฝั่งอันดามัน เปิดเผยว่า สาเหตุที่ไม่สามารถลงนามด้วยได้นั้น เนื่องจากไม่มั่นใจในตัวของผู้แทนรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ และยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องของเอกสารสิทธิต่างๆ ของเกษตรกร รวมทั้งเรื่องของคดีความของผู้ชุมนุม และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการดำเนินการอย่างแท้จริง เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานแก้ไขปัญหา มาดำเนินการด้วยตัวเอง

ต่อมา พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอนันต์ คลังจันทร์ นายอำนวย ยุติธรรม นายสายัณห์ ยุติธรรม นายอภินันท์ เชาวลิต พร้อมด้วยข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้แถลงข่าวถึงความสำเร็จในการลงนามทันที โดยระบุว่า เป็นสิทธิของเกษตรกรที่สามารถจะลงนามหรือไม่ลงนามก็ได้ และยืนยันว่าในฐานะเลขานุการคณะกรรมดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารานั้น มีอำนาจเต็มในการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ และขอยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น