xs
xsm
sm
md
lg

“ควนหนองหงษ์” จ่อชุมนุมอีกรอบ จวกรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแถลงจุดยืนพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
นครศรีธรรมราช - ชาวสวนยางใน ต.ควนหนองหงษ์ ประกาศเคลื่อนไหวต่อไปเนื่องจากไม่ยอมรับในหลักการช่วยเหลือของรัฐบาล จ่อเตรียมชุมนุมอีก บางส่วนเชื่อว่าเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีปัญหาอีกหลายอย่างตามมาเนื่องจากไม่ได้มีเสถียรภาพของราคายางอย่างแท้จริง

วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางพบว่าเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงใช้วิธีนำน้ำยางสดที่กรีดได้มาส่งยังสหกรณ์การเกษตรชาวสวนยางพารา หรือ สกย.เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถได้เงินสดเร็วที่สุด และสามารถลดขั้นตอนความยุ่งยาก และต้นทุนการผลิตในการทำยางแผ่นดิบ แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการช่วยเหลือด้วยการชดเชยเป็นเงินอุดหนุนในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 12 บาทต่อกิโลกรัม ในอัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นเวลา 15 วัน ใน 1 เดือน ตลอดระยะเวลา 7 เดือน เป็นเงินไร่ละ 2,520 บาทก็ตาม

นายจตุพร เตราชูสงค์ เกษตรกรชาวสวนยางพาราในฐานะผู้จัดการ สกย.ยูงทอง บอกว่า รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากการช่วยเหลือในครั้งนี้ไม่ได้ทั่วถึง หลังจากนี้จะมีปัญหาตามมาอีกแน่นอน ที่สำคัญการช่วยเหลือครั้งนี้ยังไม่ครอบคลุมไปถึงเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และลูกจ้างกรีดยางที่น่าเชื่อว่าจะต้องมีปัญหากับนายจ้างตามมาแน่ๆ ทางที่ถูกนั้นรัฐบาลควรแก้ปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพราคายาง เพื่อความมั่นคงทั้งระบบของยางพารามากกว่า

และในวันเดียวกัน ตัวแทนเกษตรกรในตำบลควนหนองหงษ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช กว่า 20 คน นำโดย นายชญานินทร์ คงสงค์ นายสามารถ ทองขาว เข้ายื่นหนังสือต่อ นายศักดิ์ชัย ชัยเชื้อ นายอำเภอชะอวด เพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการตามที่ตกลงกับกลุ่มผู้เรียกร้องด้านมาตรการราคายางพารา โดยนายชญานินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำที่ถูกออกหมายจับในคดีร่วมกันชุมนุมเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการชุมนุมเรียกร้องราคายางพารา จนเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

นายชญานินทร์ ระบุว่า ในฐานะกลุ่มตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตำบลควนหนองหงษ์ เห็นว่าได้มีการตกลงระหว่างตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนเกษตรกรให้ยางพารามีราคาที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม ในวันที่ 14 กันยายนนี้ และพบว่าราคายังไม่มีการปรับตัวตามที่น่าจะเป็น ซึ่งหากในวันที่ 14 กันยายน ราคายางไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องราคายางพารากันต่อไป ส่วนมาตรการนโยบายช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตนั้น กลุ่มเกษตรกรไม่ยอมรับในหลักการ ซึ่งถือว่าไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่แท้จริง และผู้ที่ออกนโยบายไม่ได้รับทราบถึงสภาพปัญหา และปัจจัยที่แท้จริงของปัญหา โดยหากไม่เร่งแก้ปัญหาด้านเสถียรภาพราคายางนั้นจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะเริ่มก่อตั้งเวทีการชุมนุมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น