ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสวนยางพาราใน จ.สงขลา ยังคงเดินหน้ากรีดยางพาราตามปกติ เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว แม้ว่าราคาน้ำยางสดจะลดลงมาเหลือ กก. 70 บาทแล้ว โดยชาวสวนยางส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้ แต่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ระบุว่าราคายางต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท
วันนี้ (30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวสวนยางใน จ.สงขลา โดยเฉพาะลูกจ้างกรีดยางพารา ยังคงกรีดยางตามปกติเช่นทุกวัน แม้ราคายางพาราจะตกต่ำ และแม้ว่าบางรายจะต้องใช้วิธีต่อมีดกรีดยางบนยอด หรือยางฉอย ซึ่งยากกว่าปกติ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวบรรเทาความเดือดร้อน ขณะที่ภาพรวมชาวสวนยางใน จ.สงขลา ส่วนใหญ่พบว่าไม่เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้ แต่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ระบุว่า ราคายางต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท
ทั้งนี้ ชาวสวนยางพาราใน จ.สงขลา ยังคงเดินหน้ากรีดยางพาราตามปกติเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยบางรายต้องใช้วิธีต่อมีดกรีดยางกับไม้ยาวกว่า 2 เมตร เพื่อกรีดยางบนยอดที่อยู่สูงขึ้นไปจากพื้น หรือที่เรียกว่ายางฉอย และต้องกรีด 2-3 หน้า กว่าจะได้น้ำยางซึ่งยากกว่าปกติก็ตาม
นายมูสา เหล็มปาน อายุ 46 ปี ชาว จ.พัทลุง ซึ่งอพยพครอบครัวมารับจ้างกรีดยางอยู่ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และต้องใช้วิธีต่อมีดกรีดยางเพื่อกรีดยางที่อยู่สูงขึ้นไปเกือบ 3 เมตร เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำส่งผลกระทบต่อกลุ่มของผู้ที่มีอาชีพรับจ้างกรีดยางอย่างหนัก เนื่องจากต้องแบ่งกับเจ้าของสวน 50-50 หรือ 60-40 มีรายได้เพียงแค่พอใช้จ่ายรายวัน ไม่มีเหลือเก็บ เพราะค่าครองชีพอย่างอื่นสูงหมด ทั้งน้ำมัน และของกินของใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน จึงจำเป็นต้องกรีดยางทุกวัน แม้จะเหนื่อยกว่าเดิมก็ตาม ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ โดยราคาที่เกษตรพออยู่ได้ต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท
ขณะที่ราคายางพารา โดยเฉพาะน้ำยางที่เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาขายแทนยางแผ่น เพื่อลดต้นทุน ในวันนี้ตามจุดรับซื้อน้ำยางของเอกชนในหมู่บ้านต่างๆ ลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 70 บาท จากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 71 บาท ส่วนยางก้นถ้วย หรือขี้ยาง กิโลกรัมละ 30 บาท