xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อมรับมือโรฮิงญาจ่อทะลักเข้าไทยหลังหมดมรสุมนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - หน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ระนอง ประชุมหาแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือโรฮิงญาจ่อทะลักเข้าไทยหลังหมดฤดูมรสุมนี้

วันนี้ (10 ก.ย) พล.ต.วัตรชนินทร์ เสาวภา รอง ผอ.ศปป.2 กอ.รมน. ลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อร่วมประชุมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ในการประสานแผนการป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาที่คาดว่าจะทะลักเข้ามายังประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากหลังหมดช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือน พ.ย.-ก.พ.นี้

พล.ต.วัตรชนินทร์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในเมืองชิตตะเว รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ทำให้กลุ่มชาวโรฮิงญาจำนวนมากอพยพไปยังประเทศบังกลาเทศ จากข้อมูลด้านการข่าวทราบว่า ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาที่ต้องการอพยพย้ายถิ่นจากพม่า และบังกลาเทศไปยังประเทศมุสลิมอื่นๆ รวม 30,000 คน ดังนั้น แนวโน้มการอพยพของชาวโรฮิงญามายังประเทศไทยน่าจะมีจำนวนสูงขึ้น ประกอบกับในปัจจุบันขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาเป็นขบวนการที่มีความเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นทาง คือ พม่า และบังกลาเทศ มายังประเทศไทย และต่อไปยังประเทศที่สามคือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศอื่นๆ โดยการดำเนินการครั้งล่าสุดต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2556 ที่ผ่านมา พบว่ามีการขนย้ายด้วยเรือที่มีขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกได้จำนวนมากขึ้น และมีผู้นำพาชาวพม่ามากับเรือผู้อพยพด้วย และกลุ่มนำพาดังกล่าวมีการติดต่อกับขบวนการในประเทศต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายในประเทศไทย

ส่วนแนวทางการปฏิบัติต่อผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการดำเนินการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนการสกัดกั้น ยับยั้ง และโน้มน้าว โดยทำการลาดตระเวนทางเรือ และใช้เครือข่ายกำลังภาคประชาชนแจ้งข่าวสารเพื่อสารป้องกันมิให้หลบหนีเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงประสงค์มากที่สุด ขั้นตอนการควบคุมตรวจสอบ เป็นการสืบหาข้อเท็จจริง บันทึกสถิติ ควบคุมโรคติดต่อ โดยกระทำเท่าที่จำเป็น และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม และขั้นตอนการปฏิเสธเข้าเมือง และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แบ่งเป็น 2 ขั้นย่อย คือ ขั้นการปฏิเสธการเข้าเมือง ด้วยการจัดหาเสบียง น้ำดื่ม ยารักษาโรค น้ำมันเชื้อเพลิง เรือยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเดินทางต่อไปได้อย่างน้อย 15 วัน ขั้นตอนการอำนวยความสะดวก จัดเรือปฏิบัติการ อำนวยความสะดวกในการเดินทางจนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นน่านน้ำสากลเพื่อป้องกันการหลบหนีขึ้นฝั่ง

สำหรับสถิติ และผลการดำเนินการต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลชาวโรฮิงญา ปี 2549 จำนวน 1,225 คน ปี 2550 จำนวน 2,763 คน ปี 2551 จำนวน 4,886 คน ปี 2552 จำนวน 1,477 คน ปี 2553 จำนวน 93 คน ปี 2554 จำนวน 351 คน ปี 2555 จำนวน 2,817 คน ปี 2556 เข้าดำเนินการแล้วจำนวน 7,550 คน โดยเทียบสถิติปี 2549-2554 พบว่า สถิติลดลง ปี 2555-2556 พบว่าสถิติเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น