xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการหวั่นม็อบสวนยางขู่ปิดท่าเรือ แนะรัฐจับมือมาเลย์-อินโดฯ สร้างอำนาจต่อรองประเทศคู่ค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผู้ประกอบการยางรายใหญ่ภาคใต้เปิดอกไม่อยากเห็นการปิดถนน หรือท่าเรือส่งออก หวั่นสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ แนะรัฐจับมือมาเลย์ และอินโดฯ ในฐานะผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองราคากับประเทศคู่ค้า

นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และประธานกรรมบริหารกลุ่มบริษัทวู้ดเวอร์ค ผู้ผลิต และส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางรายใหญ่ของภาคใต้ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะต้องรีบเร่งใช้เวลาในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อเจรจากับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราแก้ปัญหาราคาตกต่ำให้เป็นรูปธรรมตามข้อเสนอ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่อยากเห็นภาพการประท้วงใหญ่เกิดขึ้น ด้วยการปิดถนนตามจุดสำคัญๆ หรือถึงขั้นการปิดท่าเรือส่งออกต่างประเทศ เพราะจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก

โดยหากมองตามต้นทุนของการทำสวนยางในปัจจุบันต่างก็ปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าวัสดุอุปกรณ์ หรือค่าแรง ซึ่งการช่วยเหลือให้ราคายางอยู่ที่ กก.ละ 95 บาทนั้น ถือว่าน่าจะเหมาะสมแล้ว เมื่อเทียบกับการที่รัฐบาลเคยช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในช่วงที่ผ่านมา เพราะราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ที่เกวียนละไม่ถึง 10,000 บาท แต่รัฐบาลกลับไปแทรกแซงให้มีราคาสูงขึ้นถึงเกวียนละ 15,000 บาท ในขณะที่ราคายางในตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ กก.ละ 70-75 บาท ซึ่งหากแทรกแซงให้ราคาสูงขึ้นไปเป็น กก.ละ 95 บาท ก็ยังถือว่าน้อยกว่าข้าว

ทั้งนี้ แม้ว่าการเข้ามาแทรกแซงยางในครั้งนี้ รัฐบาลอาจจะต้องใช้งบประมาณสูง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นแก่เกษตรกรทุกกลุ่ม หลังจากนั้นรัฐบาลจะต้องมาวางแผนการแก้ปัญหาราคายางอย่างจริงจังในระยะยาว เช่น ควบคุมโซนนิ่ง หรือพื้นที่การปลูกยางทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับภาวะความต้องการของตลาดโลก อย่านำยางไปใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงทางการเมือง โดยต้องดูว่าทิศทางของผู้ซื้อสำคัญๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มซบเซาลงมาก

นอกจากนั้น ต้องหาทางส่งเสริมการนำยางไปสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ พร้อมกับนำผลงานวิจัยต่างๆ ที่น่าสนใจมาต่อยอดให้เกิดการขยายตัวเป็นอุตสาหกรรม มิเช่นนั้นถึงจะใช้งบประมาณมาแทรกแซงมากมายเท่าไหร่ ราคายางก็ไม่ดีขึ้นอย่างถาวร และในอนาคตโอกาสที่จะขยับขึ้นไปเกินกว่า กก.ละ 100 บาท ด้วยกลไกตลาดตามธรรมชาติ คงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับการให้ค่าปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,260 บาท ก็เป็นแค่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะหลังจากนั้นไปแล้วราคายางก็จะกลับมาตกต่ำเหมือนเดิม

“ทางผู้ประกอบการเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของไทยจะต้องจับมือพูดคุยกับรัฐบาลมาเลเซีย และอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทร่วมดูแลด้านการส่งออกยางโดยเฉพาะ อันจะทำให้เกิดอำนาจการต่อรองด้านราคากับประเทศคู่ค้ามากขึ้น แต่จะเคลื่อนไหวเฉพาะไทยเพียงลำพังคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะหากเทียบเรื่องการปลูกยางกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะพบว่าไทยมีต้นทุนที่สูงมากกว่า จนทำให้เกษตรกรอยู่อย่างยากลำบาก และนำไปสู่การเคลื่อนไหวด้านราคายางที่ไม่รู้จบ”

สำหรับใน จ.ตรัง นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีท่าเรือส่งออกต่างประเทศที่สำคัญอยู่ 1 แห่ง คือ ท่าเรือกันตัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะยางพารา และไม้ยางพารา ตามโครงการ IMT-GT หรือความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทั้งนี้ จากข้อมูลของด่านศุลกากรกันตัง ระบุว่า มีตัวเลขการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือกันตังมูลค่าสูงถึงปีละไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีม็อบกระจายมาปิดท่าเรือแห่งนี้ด้วยก็จะส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นอย่างมาก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น