ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรม “บ้านเราอุษาคเนย์” นำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มพัฒนาต่อยอดเส้นทางท่องเที่ยวร่วมสมัย “สงขลา-ละออร์ สตาร์-กัวลาลัมเปอร์”
วันนี้ (6 ก.ย.) ที่โรงแรมบีพี สมิหลา บีช รีสอร์ท จ.สงขลา นายสุระ เตชะทัด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนา “บ้านเราอุษาคเนย์” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ไทย-มาเลเซียในดินแดนอุษาคเนย์” เพื่อสร้างความรู้ และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 โดยใช้ความคล้ายคลึงของ “รากวัฒนธรรม” และ “มรดกร่วม” เป็นทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพัฒนา และต่อยอดสู่เส้นทางท่องเที่ยวร่วมสมัยไทย-มาเลเซีย “สงขลา-ละออร์ สตาร์-กัวลาลัมเปอร์” สร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้เข้าประเทศ โดยมีเครือข่ายสภาวัฒนธรรม สมาชิกกลุ่มสตรี ตัวแทนจากสมาคมโรงแรม ภาคธุรกิจท่องเที่ยว นักศึกษา และวัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 200 คน เข้าร่วม
นายสุระ เตชะทัด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมเสวนา “บ้านเราอุษาคเนย์” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 เพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายวัฒนธรรม นักวิชาการของไทย และมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นเส้นทางการเตรียมความพร้อมของไทยสู่อาเซียนในปี 2558 โดยใช้อัตลักษณ์ และทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งทางด้านมรดกวัฒนธรรมของไทย มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย สามารถนำทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของวัดคูเต่า อ.บางกล่ำ มีศาลาโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี ที่ได้รับรางวัลศาลาเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ประจำปี 2011 จากยูเนสโก งานประเพณีชักพระ ตำนานพระนางเลือดขาว และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ทะเลสาบสงขลา แหลมสมิหลา เขาน้อย เขาตังกวน ตลาดกิมหยง เหล่านี้เป็นต้น ก่อให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แห่งใหม่ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย คือ “สงขลา-ละออร์ สตาร์-กัวลาลัมเปอร์”
ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย เช่น เมือง ละออร์ สตาร์ ของรัฐเกดะห์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีภูมิประเทศ ศิลปวัฒนธรรม คล้ายคลึงกับประเทศไทยมากที่สุด จึงเชื่อว่า ในปี 2558 การปรับบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยสร้างองค์ความรู้เรื่องอาเซียน เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมอาเซียน ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือ และเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรมกับอาเซียนอีกด้วย