ตรัง - ชาวบ้านทุ่งครก อ.เมืองตรัง สุดทนโรงงานแปรรูปไม้ยาง 4 แห่ง แอบปล่อยน้ำเสียนาน 4 ปี ทำดินและน้ำเป็นพิษ กระทบต้นยางพารา ปาล์ม สัตว์เลี้ยง และผู้คน ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดสั่งให้เร่งแก้ปัญหาแล้ว
วันนี้ (26 ส.ค.) นายโชติวัฒน์ ตันเล่ง พร้อมด้วยชาวบ้านทุ่งครก ม.2 ต.นาท่ามเหนือ อ.เมืองตรัง กว่า 30 คน ได้ออกรวมตัวกันร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวว่า ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราที่อยู่ล้อมรอบหมู่บ้านทั้ง 4 แห่ง เนื่องจากมีการลักลอบแอบปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จนส่งผลให้ต้นยางพารา ซึ่งถือเป็นรายได้หลักต้องยืนต้นตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ ในส่วนที่ไม่ตาย ก็ใบเหลืองแห้งกรอบ และผลัดใบปีละ 2 ครั้ง บางรายที่มีต้นยางประมาณ 700-800 ต้น ซึ่งเคยได้ผลผลิตในปริมาณมาก กลับลดลงเหลือแค่เพียง 35 กก.เท่านั้น ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว
นอกจากนั้น ต้นปาล์มน้ำมัน และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ที่น่าตกใจไปกว่านี้ก็คือ พบชาวบ้านหลายรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ได้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ และมีผื่นคัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการของโรงงาน ขณะที่สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งชาวบ้านนำไปปล่อยให้กินหญ้าและน้ำ ก็ต้องมาเกิดปัญหาแท้งลูกเนื่องจากไปกินน้ำเสีย
นายโชติวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยร้องเรียนไปยังอุตสาหกรรม จ.ตรัง และเข้าไปตรวจในโรงงานก็พบว่า บางแห่งมีระบบดูดฝุ่นควัน แต่ก็ชำรุดใช้งานไม่ได้ และบางแห่งก็ไม่มี รวมทั้งไม่มีระบบเก็บน้ำเสีย แถมยังปล่อยน้ำเสียลงสู่พื้นที่ทำกินของชาวบ้านอีกด้วย ต่อมาได้มีการนัดคุยกันระหว่างโรงงาน อุตสาหกรรม และชาวบ้าน โดยได้ข้อสรุปว่า ให้โรงงานปรับปรุงระบบดูดฝุ่นควัน สร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย และไม่ปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอีก ซึ่งชาวบ้านก็ได้ให้เวลาโรงงานแก้ไขปรับปรุงมา 2 เดือน แต่ก็ไม่คืบหน้า
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตรัง ยังเคยเข้ามาเก็บตัวอย่างดิน และน้ำในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไปตรวจวิเคราะห์ และมีผลตรวจออกมาว่า น้ำมีค่าเป็นกลาง ส่วนดินมีค่าเป็นพิษ แต่ไม่เกินมาตรฐาน ในขณะที่ชาวบ้านกลับรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่า ดิน และน้ำน่าจะเป็นพิษ จึงได้เรี่ยไรเงินเก็บตัวอย่างดิน และน้ำส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งผลตรวจกลับพบว่าดิน และน้ำเป็นพิษจริงๆ
ทั้งนี้ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่ก็อดทนมาตลอด และไม่กล้าทำอะไรมากนัก เพราะลูกหลานส่วนใหญ่ก็ทำงานในโรงงานทั้ง 4 แห่งด้วย แต่วันนี้รายได้ที่ได้มาเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่คุ้มกัน ทำให้ชาวบ้านหมดความอดทน และจำเป็นต้องรวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงงาน อุตสาหกรรม จ.ตรัง และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ลงพื้นที่ไปดูสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับเปิดเวทีพูดคุยหาทางออกร่วมกัน โดยที่ทั้งโรงงาน และชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้
ด้านนายเดชา เกื้อกูล อุตสาหกรรม จ.ตรัง กล่าวว่า เบื้องต้นตนได้สั่งให้โรงงานทั้ง 4 แห่ง ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังสำนักดิน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เข้ามาเก็บตัวอย่างดิน และน้ำให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จากนั้นจะจัดให้มีประชุมร่วมกัน และเร่งเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าผลการตรวจวิเคราะห์ที่ส่งไปล่าสุดจะยังไม่ออกมาก็ตาม พร้อมจะทำหนังสือประสานไปยังแขวงการทางตรัง สำนักงานทางหลวงชนบท และ อบต. เพื่อของบขุดลอกระบายทางน้ำสาธารณะในพื้นที่ ต.นาท่ามเหนือ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลาด และมักจะมีน้ำจากภายนอกทะลักเข้ามา