xs
xsm
sm
md
lg

พรรคประชาธิปัตย์ต้องไปให้ไกลกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
ภาพของพลพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหารพรรค ตลอดจน ส.ส.ของพรรค ออกมาเดินนำหน้ามวลชนบนท้องถนน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณที่ทำเอาฝ่ายรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยหวั่นไหวมิใช่น้อย
 
แต่การแก้เกมด้วยการเร่งตัดหน้าด้วยการเสนอสภาปฏิรูปของรัฐบาล เป็นการตัดเกมได้อย่างทันท่วงที และก็ได้ผลเกินคาด แม้จะเป็นรูปแบบของการนำเสนอโดยการให้รัฐมนตรีของพรรคออกไปตระเวนเชื้อเชิญนักการเมืองรุ่นเก่า จนทำให้มีเสียงยี้ดังขรมไปทั่วในหมู่ปัญญาชนอยู่บ้าง แต่ก็กลบประเด็นร้อนที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาดับเครื่องชน ในประเด็นการยืนกระต่ายขาเดียวในการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมลงได้ในระดับหนึ่ง
 
ตามด้วยการเปิดตัวละครที่รัฐบาลจะเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอย่าง นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายมาร์ตติ อะห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ฯลฯ มาให้ข้อคิด ให้คำแนะนำต่อกรณีปรองดอง สร้างสมานฉันท์ ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แทบจะก้าวต่อในประเด็นแหลมคมลดลงในทันที ก็ได้แต่หันมาตอดเล็กตอดน้อยในเรื่องตัวบุคคล ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลที่จะต้องจ่ายเพื่องานนี้ แรงเหวี่ยงของกระแสจึงลดลง งานนี้ต้องนับถือฝ่ายยุทธวิธีของทีมงานของรัฐบาลว่าเก๋าจริงๆ
 
ในความเป็นจริง ต้นทุนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำเอาไว้ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีอยู่พอสมควร คือ ในครั้งนั้นเขาได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่ 10 (3) โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่และเฉพาะประเด็น เพื่อเป็นเครื่องมือในการเชื่อมประสานทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้เรียนรู้ร่วมกันบนฐานของปัญญา และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเริ่มครั้งแรกในปี 2554 การประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติในครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า สังคมไทยจะต้องทำการปฏิรูปใน 7-8 ประเด็น เช่น
 
- การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
 
- การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
 
- การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนกรณีที่ดิน ทรัพยากร
 
- การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม
 
- การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพเพื่อการชราภาพ และระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ
 
- การสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
 
- การปฏิรูปการกระจายอำนาจ เพื่อเสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
 
- การใช้ศิลปวัฒนธรรมเยียวยา และพัฒนาสังคม
 
หลังจากนั้น ก็มีการขับเคลื่อนภาคประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขยายผลเป็นวงกว้าง มีการสรุปเป็นมติเพื่อเสนอเป็นประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นนโยบายสาธารณะเสนอต่อรัฐบาล และสังคมก็ได้ตระหนัก และขับเคลื่อนร่วมกันในหลายพื้นที่ ในการจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 มีการนำเสนอในหัวข้อ “เพิ่มพลังพลเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของปัญหาในสังคมไทย ในครั้งนั้นมีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องปฏิรูปใน 6 ประเด็นหลักๆ คือ
 
1.การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรองแรงงาน และปรับโครงสร้างค่าจ้าง

2.การปฏิรูประบบเกษตรกรรม ด้วยการเพิ่มความเป็นธรรมด้านราคาเกษตร

3.การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจสู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสม ระหว่างรัฐบาลกับชุมชนท้องถิ่น มุ่งเน้นโครงสร้างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทต่อองค์กรรัฐ

4.การปฏิรูประบบการเมือง ด้วยการพัฒนาความเข้มแข็งพลเมืองเป็นพื้นฐาน

5.การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน

6.การปฏิรูปการศึกษา ด้วยการปรับทิศทางการศึกษาให้เท่าเทียมทุกสถาบัน
 
การเปิดหน้าชกของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ถ้าหากไม่ใช่แค่เกมเพื่อเอาชนะกันในทางการเมือง และคาดหวังการกลับเข้ามามีอำนาจบนซากปรักหักพังของสังคม พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องก้าวไปให้ไกลกว่าการชูประเด็นการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม 
 
แน่นอนว่ากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นไม้ตายทางการเมืองที่สามารถนำมาขยายผลได้มาก โดยเฉพาะในประเด็นที่กฎหมายฉบับดังกล่าว ไปก้าวล่วงอำนาจตุลาการ ในประเด็นคดีความอาญา และคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ สามารถนำมาขยายผลได้ง่าย เป็นรูปธรรมและสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนมากที่รับไม่ได้ในประเด็นดังกล่าว
 
แต่ก็ไม่ควรจะลืมว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้าง และความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าการจัดสรรทรัพยากร เครื่องมือ หรือกลไกที่จะสร้างความชอบธรรมของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะไม่มี ปัญหาการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพื่อคืนอำนาจหรือกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นให้ชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ
 
ข้อเสนอในการสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ข้อเสนอตามมติสมัชชาปฏิรูป เช่น ร่างกฎหมาย 4 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ภาษีที่ดิน และกองทุนยุติธรรม ล้วนเป็นข้อเสนอของการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ และต้นตอทั้งสิ้น
 
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศ การประกาศหยิบยกปัญหาและทางออกของปัญหานั้นๆ มาเป็นพันธสัญญาต่อสังคม การเดินหน้าล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็จะมีมวลชนเข้าร่วมในทางเนื้อหามากขึ้น เวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเต็มไปด้วยข้อมูลและสีสัน มากกว่าคำพูดที่ว่า “นายกฯ ตะแล็ตแต็ดแต๋ หรืออีอ้อล้อตอแหล” ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นไหนๆ.

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น