ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรภ.สงขลา จับมือองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 12 รอบคัดเลือกภาคใต้ ระดับประถม และมัธยมศึกษาหาตัวแทนเข้าชิงชัยระดับประเทศ หวังพัฒนาทักษะด้านการผลิต สร้างโอกาสเข้าถึงสื่อการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 12 รอบคัดเลือกภาคใต้ว่า นอกจาก มรภ.สงขลา จะมีภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาแล้ว ยังมีภารกิจในการบริการทางวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำ ถือเป็นการบริการความรู้แก่ชุมชน ที่ มรภ.สงขลา ให้ความสำคัญ และนับเป็นเกียรติอย่างสูงที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ กับ มรภ.สงขลา
ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ดี ที่จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ รวมถึงสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และเป็นการขยายฐานการเรียนรู้สู่คนในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน โดยการแข่งขันจรวดขวดน้ำแบ่งออกเป็นประเภทความไกล และประเภทแม่นยำ ซึ่งทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เป็นตัวแทนภาคใต้เข้าแข่งขันในระดับประเทศต่อไป
อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก และอยู่ไกลตัว แต่เชื่อว่าหลังจากได้เข้าร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำแล้ว คงเห็นว่าวิทยาศาสตร์เรียนรู้ได้ด้วยวิธีการง่ายๆ และเป็นสิ่งใกล้ตัว ซึ่งการได้เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่ทุกคนได้รับ ในการได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน การแข่งขันที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการทดลองอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น จึงอยากให้ทุกคนภูมิใจในสิ่งที่ได้เริ่มกันมาตั้งแต่ต้น
ด้าน ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวว่า โปรแกรมวิชาฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มรภ.สงขลา ร่วมกับ อพวช. จัดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 12 รอบคัดเลือกภาคใต้ เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ บริเวณสนามฟุตบอล มรภ.สงขลา โดยมีตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เขตภาคใต้ เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 62 ทีม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สนุกไปกับการเรียนรู้ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นแก่เยาวชน ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านการผลิตจรวดขวดน้ำ ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมมีความสุข และความเพลิดเพลิน นอกจากนั้น ยังสร้างประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม และพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร โดยมีการกระจายการแข่งขันทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค