โดย...ไม้ เมืองขม
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จ.สงขลา ประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.2556 เป็นวันเลือกตั้ง “นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองคลองแห” อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ไม่มีการเลือกสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เนื่องจากครบวาระ และมีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกเฉพาะส่วนผู้บริหาร หรือนายกเทศมนตรีเท่านั้น
“ต.คลองแห” ในวันนี้ไม่ใช่บ้านนอกอย่างในอดีต แต่มีพื้นที่ติดกับเทศบาลนครหาดใหญ่ และเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท เนื่องจากความเจริญของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น “ทำเลทอง” ของธุรกิจการค้า บ้านจัดสรร โรงแรม และศูนย์การค้าข้ามชาติก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ แถมสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้กันดีคือ “ตลาดน้ำคลองแห” ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ อ.หาดใหญ่
“เทศบาลเมืองคลองแห” จึงเป็นท้องถิ่นที่มีกลุ่มนักการเมืองต้องการเข้าไปบริหาร เพราะเป็นเมืองที่มีอนาคต มีความเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นหมายถึง “เม็ดเงิน” ในการพัฒนา และโครงการการก่อสร้างต่างๆ ที่ติดตามมา ซึ่งล้วนเป็น “ผลประโยชน์” ที่เป็นที่หมายปองของนักการเมือง
ดังนั้น ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองคลองแหครั้งนี้ จึงมีผู้ลงรับการเลือกตั้งถึง 5 ทีมด้วยกัน!!
เริ่มจากหมายเลข 1 “นางสุภาภรณ์ สังขชาติ” อดีตนายกฯ คนล่าสุด ทีมคลองแหมั่นคง
หมายเลข 2 “นายควง เล็กสุทธิ์” ทีมพลังคลองแห
หมายเลข 3 “นายนิทัศน์ วงศ์ชนากูล” ไม่มีชื่อทีม
หมายเลข 4 “นพ.ชรินทร แทพย์นันทเวช” ทีมคลองแหก้าวไกล
และหมายเลข 5 “นายอนันต์ การันสันติ” ทีมคลองแหพัฒนา
สำหรับการหาเสียงของผู้สมัครทั้ง 5 คนนั้น ในระยะเริ่มแรกยังไม่คึกคัก เนื่องจากอยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา และคู่ชิงคือ นายอุทิศ ชูช่วย กับ นายนิพนธ์ บุญญามณี แต่หลังจากวันที่ 4 ส.ค.ที่การเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลา ผ่านไป เวทีการหาเสียงในพื้นที่เทศบาลตำบลคลองแหก็เป็นไปอย่างคึกคักยิ่ง เพราะผู้สมัครทั้ง 5 ราย ต่างเปิดเวทีปราศรัยหาเสียง และเดินเคาะประตูบ้าน รวมทั้งการใช้แผ่นป้าย โฆษณานโยบาย และโครงการต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเข้มข้น
หากวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละทีมจะพบว่า หมายเลข 1 นางสุภาภรณ์ สังขชาติ ทีมคลองแหมั่นคงนั้น มีจุดแข็งที่เป็น “ผู้หญิง” เพียงคนเดียวที่ลงสมัครในครั้งนี้ และมี “คะแนนจัดตั้ง” ที่เป็นกอบเป็นกำ แต่ในขณะเดียวกัน 4 ปีที่ผ่านมาในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองคลองแห ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค มีความขัดแย้งภายใน มีการปลดรองนายกเทศมนตรีถึง 2 คน ผลงานที่ประชาชนคาดหวังจึงไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ และสุดท้ายเธอมีสถานะเป็น “สะใภ้คลองแห” ไม่ใช่คนคลองแหโดยกำเนิด
ส่วนหมายเลข 2 นายควง เล็กสุทธิ์ อดีตนักการศึกษา ไม่ใช่คนใหม่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่น เพราะเป็นอดีตรองนายกเทศมนตรีในทีมของนางสุภาภรณ์ ที่สุดท้ายไปกันไม่ได้ ต้องออกจากตำแหน่งกลางคัน จุดแข็งของเขาคือเป็นคน “ลูกที่” เป็นชาวคลองแหโดยกำเนิดที่มี “สาแหรก” ค่อนข้างมากในพื้นที่ ในการหาเสียงครั้งนี้จึงมีการ “นับญาติ” กันอย่างคึกคักยิ่ง แต่จุดอ่อนคือ เป็นผู้สนับสนุนนายอุทิศ ในการเลือกนายก อบจ.สงขลา ที่ผ่านมา และการพ่ายแพ้ของนายอุทิศ ย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียงของ นายควง ไม่มากก็น้อย
หมายเลข 3 นายนิทัศน์ วงศ์ชนากูล เป็นผู้สมัครคนเดียวที่ไม่มีคำว่า “ทีม” และมีแผ่นป้ายหาเสียงที่น้อยที่สุด ไม่มีการเปิดเวทีปราศรัย แต่ใช้วิธีเดินไปหาชาวบ้านถึงบ้านเพื่อเสนอนโยบายในการพัฒนาคลองแห โดยเขาเป็นอดีตกำนัน ต.คลองแห ซึ่งเป็นบุคคลที่คนในคลองแหรู้จักดี
หมายเลข 4 นพ.ชรินทร แพทย์นันเวช ทีมคลองแหก้าวไกล แม้จะมีวิชาชีพเป็น “แพทย์” แต่เป็นคนที่ประชาชนในคลองแหรู้จักดี เพราะเป็นหนึ่งในรองนายกเทศมนตรีของ นางสุภาภรณ์ ที่มีส่วนในการเขียนนโยบายให้แก่ทีมคลองแหมั่นคง จนชนะการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ก็มีความ “ขัดแย้ง” จนต้องพ้นจากตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีกลางคันเช่นเดียวกับ นายควง ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาศัย “จุดแข็ง” คือ เป็นคนหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ และมีการนำเสนอนโยบายการพัฒนา และการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพื่อเสนอตัวเป็น “ทางเลือก” ของประชาชน
หมายเลข 5 นายอนันต์ การันสันติ ทีมคลองแหพัฒนา นักการเมือง “ลายคราม” ทีมเป็นอดีตนายกเทศมนตรีคนแรกของ ต.คลองแห ซึ่งมาพ่ายแพ้ต่อนายอภิชาต สังขชาติ “นายกหัวมัน” อดีตสามีของ นางสุภาภรณ์ และต่อมาเมื่อมาแข่งขันกับ นางสุภาภรณ์ ก็พ่ายแพ้อีกครั้ง ซึ่งจากการพ่ายติดต่อกัน 2 ครั้ง ทำให้เขาซึมซับมาเป็น “บทเรียน” ในการต่อสู้ครั้งนี้ จุดแข็งของเขาอยู่ที่เป็นผู้สมัครที่เป็น “มุสลิม” เพียงคนเดียว และใน ต.คลองแห ก็เป็นพื้นที่ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้สมัครอีก 4 คนที่เหลือ ต่างต้องแย่งชิงคะแนนกันเองจากคน “ไทยพุทธ” ซึ่งหากเกิดมีการ “เลือกข้าง” เกิดขึ้นจริง เขาก็จะได้เปรียบ อีกทั้งเวลานี้เขายังมี ส.ท.เมืองคลองแหอยู่ในทีมถึง 5 คนด้วยกัน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การเมืองท้องถิ่นของ จ.สงขลา ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่กลุ่มผู้สนับสนุนที่เป็น “พรรคการเมืองใหญ่” และ “กระสุน” ที่จะใช้ยิง รวมทั้งการบริหารจัดการกับ “กระสุน” และ “เป้า” ว่าจะยิงเข้าจุดหมายหรือไม่
ดังนั้น การที่เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว หรือเป็นมุสลิมเพียงคนเดียว หรือเป็นผู้ที่มีนโยบายที่ดีที่สุด หรือมีความเป็นลูกที่ที่มีญาติแยะ เหล่านี้อาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จในการที่เดินทางไปถึงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองคลองแห เพราะสุดท้ายแล้ว ผู้ที่จะตัดสินให้ใครเป็นผู้บริหารคนต่อไป อยู่ที่มือของประชาชนในพื้นที่ว่าจะกาบัตรให้หมายเลขใดในวันที่ 18 ส.ค.นี้
สิ่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ควรต้องนำไปขบคิดให้ดีคือ อดีตที่ผ่านมามีนักการเมืองคนไหน หรือทีมไหนบ้างที่ไม่ได้ทำตามนโยบายที่เคยหาเสียง ไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชน และใครคือนักการเมืองที่ “มูมมาม” ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครรู้ดีกว่าคนในพื้นที่
ดังนั้น การจะเลือกใครเป็น “นายกเทศมนตรีเมืองคลองแห” จึงเป็นสิทธิของคนในพื้นที่ว่าจะเลือก “กระสือ” หรือ “คนทำงาน” เข้ามาเป็นตัวแทน??!!