xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้าย ‘นิพนธ์’ ร่อน จม. ‘นายหัวชวน’ อ้อนแม่ยกสู้ศึกชิงนายก อบจ.สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ไม้ เมืองขม
 
อาทิตย์ที่ 4 ส.ค.นี้คือวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาหรือ นายก อบจ.สงขลา ซึ่งแม้จะมีผู้สมัครถึงทั้ง 4 คน แต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่าง อุทิศ ชูช่วยหมายเลข 1 จากทีมสงขลาพัฒนา กับ นิพนธ์ บุญญามณีหมายเลข 2 จากทีมพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเกือบทั้งจังหวัดจะมีแต่ป้ายหาเสียงและรถแห่ของ 2 หมายเลขนี้เท่านั้น ส่วนผู้สมัครที่เหลือคือ พิณ คงเอียงผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 และ จรัญ อรุณพันธุ์จากทีมสงขลาพอเพียง หมายเลข 4 แทบไม่เห็นแม้แต่ป้ายแนะนำตัว
 
โค้งสุดท้ายของการหาเสียงของผู้สมัครทั้ง 2 หมายเลขดังกล่าว การแข่งขันยิ่งมีแต่จะทวีความดุเดือดเลือดพล่านและเร้าใจที่สุด เท่าที่เคยมีการเลือกตั้งท้องถิ่นสงขลาในห้วงเวลาที่ผ่านๆ มา
 
เนื่องจากทั้งผู้สมัครและผู้สนับสนุนต่างยึดมั่นถือมั่นในคำว่า แพ้ไม่ได้ ด้วยกันทั้งคู่ ที่สำคัญทั้งคู่เป็นอดีต เพื่อนรักแต่ต้องมา หักเหลี่ยมกันในเรื่องของการเมืองท้องถิ่น และที่เหมือนกันอีกอย่างคือ ทั้งคู่นอกจากเป็นนักการเมืองแล้ว ยังเป็นนักธุรกิจใหญ่ และเป็นผู้กว้างขวางในจังหวัดสงขลาอีกด้วย
 
ส่วนที่ไม่เหมือนกันนั้น ได้แก่ นายอุทิศเกิดและมุ่งมั่นในการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น โดยลงป้องกันแชมป์ของตนเองคือ ตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา ในขณะที่นายนิพนธ์เกิดจากการเมืองท้องถิ่น เคยเป็น อดีต สจ. แล้วไต่เต้าไปเป็นสู่การเมืองระดับชาติ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะลาออกเพื่อมาลงชิงตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จ.สงขลา และรองเลขาธิการพรรคพรรคประชาธิปัตย์
 

 
ที่ผ่านมาทั้ง 2 คนต่างใช้วิธีการที่ตนเองถนัดคือ การทำแผ่นป้ายเสนอนโยบายของทีมและของพรรค กับการเปิดเวทีปราศรัยครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเวทีของนายอุทิศเป็นเวทีของทีมผู้บริหาร อบจ.สงขลาชุดเดิมทั้งหมด เน้นขายนโยบายในการพัฒนาเป็นหลัก ในขณะที่เวทีของนายนิพนธ์นอกจากทีมผู้บริหารแล้ว ยังมี นักการเมืองปากล้าจากพรรคประชาธิปัตย์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยหนุนช่วย นับตั้งแต่หัวหน้าพรรคอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และขุนพลคนอื่นๆ รวมทั้ง นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรค อีกทั้งผู้ใหญ่ในพรรคยังยอมลงทุนเดินหาเสียงในตลาดหรือในงานบุญต่างๆ อีกด้วย 
 
กลยุทธ์หาเสียงที่เหมือนกันอีกอย่างคือ ทุกเวทีที่เปิดปราศรัยจะต้องมีประชาชนไปร่วมฟัง 5.000-20,000 คน แต่ที่ไม่เหมือนกันก็มีคือ เวทีปราศรัยของนายอุทิศ ชูช่วย เน้นในเรื่องสาระของการพัฒนาเป็นหลัก ไม่พยายามหยิบเรื่องส่วนตัวมาเรียกเสียงเฮฮา แต่เวทีปราศรัยของนายนิพนธ์เน้นเรื่องระดับชาติ เรื่องคนเสื้อแดง เรื่องของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ปะปนกันไปกับนโยบายการพัฒนาจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นลีลาการปราศรัย หาเสียงที่ถนัดของขุนพลพรรคแม่ธรณีบีบมวยผมนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีตลก เฮฮามากกว่าสาระ แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนฟัง
 
ที่น่าเสียดายคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้บอกกับคนสงขลาว่า การส่งตัวแทนมาให้เลือกนั้นพรรคจะให้อะไรที่ดีกว่าผู้สมัครที่ไม่ใช่คนของพรรค เพราะเท่าที่เห็นป้ายหาเสียง การโฆษณา หรือบนเวทีปราศรัย พรรคยังไม่ได้นำเสนอสิ่งที่ เหนือกว่า” ผู้สมัครทีมอื่นให้กับประชาชนได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตั้งสินใจที่จะเลือกตัวแทนของพรรคแต่อย่างใด
 
แม้จะมีกระแสเสียงวิเคราะห์จากกูรูการเมืองในพื้นที่ค่อนข้างตรงกันว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ผู้จะเชือดเฉือนเอาชนะคว้าชัยเข้าวินอย่างเฉียดฉิวคือ นายอุทิศ เพราะได้เปรียบทั้งในเรื่องของการเกาะพื้นที่ การเข้าถึงประชาชนและมีผลงานตลอดระยะ 4 ปี ที่ผ่านมา รวมทั้งยุทธศาสตร์หาเสียงที่มีความพร้อม และมี ส.อบจ.อยู่ในมือถึง 30 คน จากทั้งหมด 36 คน
 
แต่บรรดากูรูเหล่านั้นต่างก็ยังมีท่าทีลังเลว่า เมื่อถึงวันเลือกตั้งจริงคือ อาทิตย์ที่ 4 ส.ค.ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปได้ เพราะแท้จริงแล้วคู่ต่อสู้ของนายอุทิศในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่นายนิพนธ์ แต่กลับเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายชวนเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค และเป็นผู้ที่สนับสนุนนายนิพนธ์ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลาในครานี้
 

 
ดังนั้น หลังจากที่มีการทำโพลแล้วพบว่า นายนิพนธ์ยังเป็นรองนายอุทิศอยู่ในหลายพื้นที่ กลยุทธ์ใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์จึงคือ การใช้ภาพของ นายหัวชวน” ถูกปูพรมไปทั้งจังหวัด พร้อมข้อความขอคะแนนเสียงให้กับนายนิพนธ์ และพร้อมกันนั้นยังมีการส่งจดหมายถึงสมาชิกและประชาชนใน จ.สงขลา เพื่อขอคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครของพรรค อีกทั้งใช้วิธีเปิดปราศรัยใหญ่ในพื้นที่เขตเมืองช่วงโค้งสุดท้าย เพราะพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าเป็นพื้นที่ตัดสินแพ้-ชนะ โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างเมืองหาดใหญ่
 
แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งทุกระดับคือ การ ยิง และ กระสุน” ที่ใช้ยิง ซึ่งในศึกครั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าผู้สมัครทั้ง 2 ค่ายต้องใช้กระสุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านนัด และแน่นอนว่าการใช้ กระสุนเงิน” ในการเรียกคะแนนเสียงถ้าทำไม่เนียนจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถ้าถูกจับได้พรรคการเมืองที่ผู้สมัครในสังกัดอาจจะต้องถูกสั่งยุบก็เป็นได้
 
วันนี้มีข่าวที่สะพัดว่า สนามเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลามีการใช้เงินซื้อเสียงกันแล้วในหลายพื้นที่ แถมซื้อกันสูงถึงเสียงละ 2,000 บาท นอกจากนั้นยังมีเรื่องการพนันขันต่อเกิดขึ้น เช่น ใน อ.ระโนด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายอุทิศมีการให้นายนิพนธ์เป็นต่อ ล้านละหกแสนเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่ใช้วิธีตั้งโต๊ะพนันสร้างคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร
 
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรคมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะต้องสืบสวน ป้องกันและจับกุมผู้ทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งมาลงโทษ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ การจับกุมผู้ซื้อเสียง ผู้แจกของ ผู้จัดเลี้ยง ก่อนที่จะมีการหย่อนบัตร เพราะตลอดเวลาที่มี กกต.เกิดขึ้นมา กกต.ไม่มีผลงานในการจับกุมผู้ทำความผิดระหว่างการหาเสียง แต่จะรอให้เลือกตั้งเสร็จและมีผู้ฟ้องร้องว่ามีการทำผิด กกต.จึงจะทำหน้าที่หาข้อมูล หลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้ถูกร้องเรียน
 
นอกจากนั้น สิ่งที่ กกต.ต้องปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์คือ ในการเลือกตั้งขณะนี้ไม่มี คืนหมาหอน อีกแล้ว เพราะ นักเลือกตั้ง เขารู้ดีว่า การซื้อเสียงในคืนหมาหอนทำได้ยาก การซื้อเสียงในขณะนี้จึงเปลี่ยนไปเป็น ซื้อกันทั้งเดือน และซื้อกันหลายรอบก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะห้วง 7 วันสุดท้ายได้กลายเป็น สัปดาห์หมาหอน ไปแล้ว ดังนั้น กกต.ต้องไม่รอที่จะทำงานแต่เฉพาะในคืนหมาหอนเหมือนกับในอดีต
 
ท้ายที่สุดแล้วให้จับตาว่า การเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลาในวันอาทิตย์ที่ 4 ส.ค.นี้ ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งอยู่ที่การปล่อยหมัดสุดท้าย” ในการหาเสียง และที่สำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของชาวสงขลาว่า จะเลือกใครระหว่างผู้ที่ประกาศตัวว่าเป็นคนทำงาน” หรือ ตัวแทนพรรคการเมือง” หรือ คนดี ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของผู้มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจกาในบัตรเลือกตั้ง.


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น