ปัตตานี - บรรยากาศที่บ้านอิหม่ามยะโก๊บ ยังคงมีหน่วยงานเข้ามาเยี่ยมให้กำลังใจแก่ครอบครัวไม่ขาดสาย ขณะที่ภรรยาอิหม่ามเผยถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ตอนสามีล้มลงไปยังไม่ทราบว่าสามีโดนยิง ยังคงคิดว่าสะดุดเท้าล้ม พอเห็นเลือดไหลออกมาถึงได้รู้ แต่ก็มิได้ร้องไห้ออกมาตามคำสั่งเสียของอิหม่ามว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเขาห้ามร้องไห้เด็ดขาด
วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพักตึก 2 ชั้น มีรั้วล้อมรอบพื้นที่บ้านขนาดประมาณ 1 ไร่กลางทุ่งกว้างริมถนนคอนกรีตถนนสายบ้านกาปงตารง-กูแบอีเตะ ม.3 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่มีลวดหนามล้อมรอบกำแผงรั้วบ้าน บริเวณตรงข้ามประตูเข้าออกบ้านมีฐานปฏิบัติการย่อยกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอเมืองปัตตานี ทำหน้าที่ดูแลคนในบ้านหลังดังกล่าว นั่นคือบ้านของอดีตอิหม่ามมัสยิดกลาง นายยะโก๊ป หร่ายมณี ที่ได้ปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี หลังจากปลูกบ้านได้ไม่นานนายยะโก๊บ หร่ายมณี ที่ได้รับมอบความไว้วางใจจากสัปปุรุษมัสยิดกลางปัตตานีซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ หลังจากที่ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งอิหม่าม จากผู้สมัครที่เคยดำรงตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิดกลางก่อนแล้ว ทำให้การบริหารกิจกรรมมัสยิดกลางนั้นเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมัสยิดกลางในอดีต การบริหารจะอิงมาจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเป็นหลัก
ด้วยวิสัยทัศน์การบริหารควบคู่กับการพัฒนามัสยิดกลางที่นำโดยอิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองคอยให้การสนับสนุน และเป็นมัสยิดที่เป็นสถานที่รับเสด็จฯ เป็นประจำทุกปี จึงทำให้หลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามามีส่วนในการที่ต้องเข้ามาดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทางเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้เข้ามาดูแลปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และสวยงามตลอดไป เนื่องจากมัสยิดกลางได้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานี
จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มัสยิดกลางมักจะเป็นจุดรวมของการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่เรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อปี 2518 ซึ่งเป็นการชุมนุมยืดเยื้อนานถึง 45 วัน ในยุคสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเหตุผู้ชุมนุมถูกระเบิดเสียชีวิตหมู่ในครั้งนั้น และต่อจากนั้นเป็นต้นมา มัสยิดกลาง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือสถานที่ชุมนุมของพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้มาโดยตลอด จนกระทั่งล่าสุด ทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายจำนวนนับหมื่นได้ใช้มัสยิดกลางในการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด และอีก 4 อำเภอของสงขลา จากเหตุความไม่สงบ และจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่
จึงไม่แปลกสำหรับการดำรงตำแหน่งอิหม่ามมัสยิดกลางปัตตานีที่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาแทรกแซงมากกว่ามัสยิดอื่นๆ จะเห็นได้ว่า การดำรงตำแหน่งของอิหม่ามยะโก๊บ ในช่วงที่ผ่านมายังมีข้อยกเว้นในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเป็นอิหม่ามต้องเป็นผู้ที่มีบ้านอยู่ในภูมิลำเนาของมัสยิดนั้นๆ แต่สำหรับอิหม่ามยะโก๊บ นั้นบ้านอยู่ในพื้นที่ ม.3 บ้านกาปงตารง ต.บานา ขณะที่มัสยิดกลางนั้นตั้งอยู่ใน ต.จะบังติกอ และไม่ใช่ตำบลที่ติดต่อกันอีกด้วย
แต่เนื่องจากมีกระบวนการแทรกแซงจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องให้นายยะโก๊บ หร่ายมณี ดำรงตำแหน่งอิหม่าม จึงทำให้ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จำเป็นต้องยินยอมทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ถูกต้อง การโดดเด่นของอิหม่ามยะโก๊บ นั้นจากการเกื้อหนุนของภาครัฐ ทำให้อิหม่ามมีชื่อเสียงเป็นที่รูจักของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จึงทำให้บางครั้งคนบางกลุ่มเริ่มมีท่าทีที่ไม่พอใจกับการวางบทบาทของอิหม่ามในบางกรณี ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในของมัสยิดกลางเป็นระยะๆ
จะเห็นได้ว่า เมื่อปี 2553 ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการมัสยิดกลางอีกครั้งหลังหมดวาระ ปรากฏว่า คนสายอิหม่ามยะโก๊บไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้รายเดียว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบางอย่างให้นายยะโก๊บ หร่ายมณี ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามพอสมควร และหลังจากนั้นไม่นาน อิหม่ามยะโก๊บ ก็ถูกลอบยิงที่บริเวณประตูรั้วบ้าน ในระหว่างลงจากรถเก๋งส่วนตัวเพื่อไปเปิดประตูเข้าบ้าน แต่โชคดีในครั้งนั้นกระสุนกลับไปถูกหมวกกะปิเยาะห์ (หมวกสวมละหมาด) เข้าข้างขวาทะลุ จากนั้นคนร้ายได้กราดยิงใส่บริเวณหน้าบ้านได้รับความเสียหายเล็กน้อย จากการเข้าตรวจสอบในที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานพบกระสุนปืน M16 ในระยะที่คนร้ายกับผู้เสียหายเพียงไม่เกิน 5 เมตร จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา บางคนมองว่าอิหม่ามมีวิชาคนร้ายยิงถึงไม่โดน แต่บางคนก็บอกว่า คนร้ายอาจไม่ประสงค์เอาชีวิตอาจแค่จะเตือนหรือเปล่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีข้อสรุป ที่แน่ๆ คือ อิหม่ามได้นำหมวกในครั้งนั้นนำใส่ครอบอย่างดี เขียนวันเดือนปีเกิด ให้แขกเรือนไว้ต่างดู จนกระทั่งล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นชนิดเดียวกับที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ก่อเหตุยิงราษฎรไทยพุทธ และมุสลิมเสียชีวิต 4 ศพ ที่ร้านขายของชำ ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี และใช้ก่อเหตุคดีอื่นอีกไม่ต่ำกว่า 10 คดี กระทั่งล่าสุด ได้ถูกคนร้าย 4 คนใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ 2 คัน ใช้อาวุธปืนขนาด .38 มม. จ่อยิงเสียชีวิตต่อหน้าภรรยา ระหว่างเดินขึ้นรถ หลังจากแวะมาซื้อข้าวของละศีลอดที่ตลาดนัดจะบังติกอ ท่ามกลางฝูงชนเป็นจำนวนมาก
ส่วนบรรยากาศที่บ้านดังกล่าว หลังจากอิหม่ามถูกลอบยิงเสียชีวิต ก็คงมีนางรอฟีอ๊ะ หร่ายมณี ภรรยาอิหม่าม นายบูรฮาน หร่ายมณี อายุ 15 ปี ลูกชาย และ ด.ญ.บุศรินทร์ หร่ายมณี อายุ 10 ขวบ ลูกสาว ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้เป็นปกติ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ได้เดินทางเยี่ยมและให้กำลังใจอย่างไม่ขาดสาย โดยล่าสุด นายมารีแย มินทราศักดิ์ อดีตนายกเหล่ากาชาดปัตตานี ได้นำครอบครัว และบุคคลใกล้ชิดเข้ามาเยี่ยม และให้กำลังใจ พร้อมกับพูดคุยชื่นชมการเป็นอิหม่ามละหมาดของอิหม่ามยะโก๊บเสียงเพราะ
โดยมีนางแวรอฟีอ๊ะ ภรรยา อิหม่ามได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า ปกติเราจะออกไปด้วยกันมาโดยตลอด และจะมีอาสาสมัคร (อส.)ไปด้วย แต่เนื่องจากใกล้ถึงวันเทศกาลฮารีรายอ อิหม่ามอยากให้ อส.ช่วยตัดหญ้าบริเวณรอบรั้วบ้าน จากนั้นเราก็ออกไปกับอิหม่าม โดยลำพัง 2 คน โดยแวะไปซื้อกับข้าวเพื่อละศีลอด ก่อนที่จะไปรับลูกที่โรงเรียนแหลมทอง ในระหว่างที่กำลังเดินเพื่อจะไปขึ้นรถ อิหม่ามก็หยุดถามว่าจะซื้ออะไรทานเพิ่มไหม เพราะยังมีเศษสตางค์เหลืออยู่ที่มือของอิหม่ามกำอยู่
จนกระทั่งได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แต่ไม่รู้ว่าเสียงปืนมาจากที่ไหน จากนั้นเห็นอิหม่ามฟุบลงกับพื้นถนนแต่ยังไม่รู้สาเหตุ อ้าวแล้วทำไมไม่ลุกเดินต่อเพราะเข้าใจว่าอิหม่ามอาจเดินสะดุดเท้า จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีกนัด และเห็นปลายปืนมีควันออกเป็นทางแต่ ณ ขณะนั้นยังไม่รู้เขากำลังยิงอิหม่าม จนกระทั่งเห็นเลือดไหลอออกมาเป็นหนอง ถึงรู้ว่าอิหม่ามถูกยิง จากนั้นตนจึงเข้าไปจับตัวอิหม่าม โดยไม่ยอมร้องไห้ตามคำสั่งเสียของอิหม่ามว่าหากเกิดอะไรกับตัวเขาห้ามร้องไห้ จึงทำให้ทุกคนต่างยกย่องว่าภรรยาของอิหม่ามมีจิตใจที่เข้มแข็งยากที่หาได้
ส่วนการจัดพิธีดินพระราชทานฝังศพนั้น จะดำเนินช่วงเช้าของวันที่ 22 เดือนสิงหาคมนี้ ณ สุสานกูโบร์โต๊ะอาเยาะ ต.จะบังติกอ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของอิหม่าม