ยะลา - สำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้แจงแนวทางปฏิบัติ 10 ข้อ สำหรับส่วนราชการในช่วงเดือนรอมฎอน
วันนี้ (4 ก.ค.) ที่ห้องโถง อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี นายอับดุลเลาะมาน อับดุลสมัด ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัด ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานข้าราชการ และกลุ่มสตรี
เข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติสำหรับส่วนราชการในเดือนรอมฎอน ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1434 จากสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อให้ทุกส่วนราชการยืดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการสนับสนุน และส่งเสริมมุสลิมทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วน ถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อสร้างสันติสุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่อัลลอฮทรงประทานอัลกุรอาน และบัญญัติให้มุสลิมถือศีลอด จึงเป็นเดือนแห่งการเพิ่มพูนคุณงามความดี การขัดเกลาจิตใจ การอภัยโทษ และการลบล้างความผิดพลาด ตลอดจนการหยิบยื่นความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1.ช่วงเตรียมการเข้าสู่เดือนรอมฎอน คือ การจัดให้มีบริการด้านสุขภาพแก่มุสลิม เพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกายในการถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เช่น การตรวจสุขภาพ การชี้แจงแนวปฏิบัติของผู้ป่วยในการถือศีลอด
2.การชี้แจงแนวปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพในเดือนรอมฎอน การให้ความรู้ด้านคุณค่าของการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน เช่น การบรรยายปฏิทินกิจกรรมรอมฎอน เอกสารประกอบการถือศีลอด
3.การอำนวยความสะดวก และการจัดสรรปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการถือศีลอด และการปฏิบัติศาสนกิจแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และผู้ต้องขังมุสลิมพร้อมกับครอบครัว
4.การสนับสนุนอาหารในการถือศีลอด และปัจจัยสำหรับการถือศีลอด เช่น อินทผลัม น้ำตาลทราย หรือชุดละหมาด แก่องค์กรศาสนาอิสลาม มัสยิด และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง
5.ช่วงเดือนรอมฎอน ควรผ่อนปรนเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มุสลิม โดยมีช่วงเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 08.00-15.00 น. เพื่อให้มีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างมีคุณค่า
6.การสนับสนุนให้ละศีลอดร่วมกัน ณ มัสยิดของแต่ละชุมชน โดยหน่วยงานราชการไม่ควรจัดกิจกรรมละศีลอดตามสถานที่ราชการ เพราะอาจจะกระทบต่อความปลอดภัย และการปฏิบัติศาสนกิจของบุคคลในเดือนรอมฎอน
7.ควรงดเว้นการจัดกิจกรรมอบรม ประชุมสัมมนา สำหรับผู้นำศาสนามุสลิมในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
8.ควรส่งเสริมและสนับสนุนการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ และการเอี้ยะตัฟในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะเยาวชนในทุกชุมชน และควรให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามบัญญัติศาสนาอิสลาม
9.ช่วงหลังเดือนรอมฎอน ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ร่วมกับองค์กรศาสนาอิสลามจัดงานเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างความสันพันธ์ และความเข้าใจที่ดีต่อกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
10.แนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และการอำนวยความเป็นธรรม โดยการกำชับและชี้แจงทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจทุกจุดให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นปัญหา อุปสรรค และควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจ หากมีเหตุต้องตรวจค้นสตรี ต้องใช้เจ้าหน้าที่สตรีในการตรวจค้นเท่านั้น