xs
xsm
sm
md
lg

จังหวัดระนองสั่งทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม ดินถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระนอง - จังหวัดระนอง สั่งทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค.นี้ จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย อาจทำให้เกิดพายุคลื่นลมแรง และฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดระนอง

นายวิโรจน์ แสงศิวะฤทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จังหวัดระนอง ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดระนอง ให้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรงในทะเลช่วงระหว่างวันที่ 31 ก.ค-4 ส.ค.56 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง ได้ตรวจสอบสภาวะอากาศกับสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดระนอง คาดว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ก.ค. ถึงวันที่ 4 ส.ค.2556 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงมีฝนตกหนักได้บางแห่ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ จ.ระนอง ที่จะต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ลมพัดแรงกระโชกบางช่วง สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรงในทะเล ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย จึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามสถานการณ์ และข่าวการพยากรณ์อากาศโดยใกล้ชิด และแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยรับทราบ และพร้อมเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทันที โดยให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุการณ์ สำรองปัจจัย 4 รวมทั้งติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างต่อเนื่องในระยะ 1-5 วันนี้ และกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. ในช่วงระยะวันที่แจ้งเตือน
 
สำหรับอำเภอ ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ขอให้เตรียมความพร้อมทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น สามารถประสานการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ และแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ รวมถึงปรับปรุงเส้นทางการอพยพ พื้นที่รองรับการอพยพ การจัดวางระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น การสื่อสาร การรายงานได้ทันที และขอให้กำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ หากเกิดสถานการณ์ขอให้รายงานสถานการณ์ให้จังหวัดทราบทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะยุติ ทางโทรศัพท์/โทรสารหมายเลข 0-7780-0077, 0-7780-0190, 0-7780-0191
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น