xs
xsm
sm
md
lg

พรรษานี้รำลึกถึงหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
ยุคสมัยแห่งการแสวงหาของหนุ่มสาวเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบให้แก่ตัวเอ งและสังคมที่ดีงาม ปัญญาชนแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 แนวคือ แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ต้องการหาคำตอบ และต้องการสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าสภาพที่ดำรงอยู่ ซึ่งต้นแบบของแนวทางดังกล่าวส่วนใหญ่สมาทานแนวคิดต้องการให้สังคมพัฒนาไปสู่ “สังคมนิยม” ที่กล่าวว่า มีความเสมอภาค ภราดรภาพ ไร้การกดขี่ขูดรีด ไร้การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทฤษฎีชี้นำ หรือกรอบคิดในการพัฒนาไปสู่แนวทางดังกล่าว ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแนวความคิดของลัทธิมาร์กซ์ และการนำทฤษฎีมาดัดแปลงสู่การเคลื่อนไหว เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่โน่นที่นั่นบนโลกใบนี้ ซึ่งก็คือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมเก่าสู่สังคมใหม่ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าในประเทศฝรั่งเศส จีน รัสเซีย คิวบา ฯลฯ แต่ร้อยทั้งร้อยการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ล้วนต้องผ่านการรบราฆ่าฟัน การหยิบอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกันของผู้คน
 
ปัญญาชนส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ปฏิเสธความรุนแรง และสนใจการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากมิติภายในของตัวเอง เครื่องมือที่ใช้ส่วนมากก็คือ นำเอาแบบอย่างของการเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่า สันติวิธี ทฤษฎีชี้นำของแนวทางดังกล่าวมักอิงอยู่กับหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่มีศาสดา ที่มีคำสอนเป็นระบบ มีแบบแผนการปฏิบัติให้ยึดถือ มีวัตรปฏิบัติที่ลงตัว แต่ก็ยืดหยุ่น และตีความต่างกันไปบ้าง แต่จุดเน้นหลักยังอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงจากภายในของตัวเอง หรือสร้างหมู่คณะ เพื่อสร้างรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังดำรงวิธีการ และเป้าหมายอยู่ที่การไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการปฏิเสธการรบราฆ่าฟัน หรือการทำลายชีวิตของกันและกัน เพื่อสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการนั้นๆ
 
ผมเคยตามอ่านงานศึกษาของกัลยาณมิตรที่พยายามนำเอาหลักธรรมคำสอนของศาสนาของตัวเองมากระจายเผยแพร่อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่า บรรจง บินกาซัน กัลยาณมิตรที่เป็นมุสลิม สมพจน์ สมบูรณ์ กัลยาณมิตรที่เป็นคริสต์ และ พระประชา ปสนฺธมฺโม ซึ่งตอนที่พี่ท่านบวชเป็นพระก็ผลิตงาน งานแปลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาออกมาหลายเล่ม จำได้ว่าหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” ซึ่งเรียบเรียงจากงานเขียนของ ท่านติช นัท ฮันห์ ในสมัยนั้น โดนใจมากๆ เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยการฝึกฝนจิตใจให้รู้ตื่น รู้เบิกบาน ก้าวย่างอยู่บนวิถีแห่งสติ โดยกล่าวว่าการปฏิบัติตามแนวทาง และวิธีการดังกล่าวจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความสุขสงบอย่างแท้จริง ถ้าผู้ใดนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ความหลุดพ้นจากความทุกข์ และความเศร้าหมองทั้งปวงก็จะหมดไป
 
วันหยุดยาวช่วงเข้าพรรษาปีนี้มีโอกาสหยิบหนังสือ “ปาฏิหาริย์ของการตื่นอยู่เสมอ” ขึ้นมาเปิดดูคร่าวๆ อีกครั้ง ในหนังสือได้แบ่งออกเป็นบทๆ เป็นตอนๆ ที่สำคัญๆ คือ

- ลมหายใจของซู

- ล้างจานเพื่อล้างใจ

- ความสงบจากชิ้นส้ม

- เดินบนพื้นโลกเป็นเรื่องปาฏิหาริย์

- ตามลมหายใจ : วิถีทางแห่งสติฯ

- แบบฝึกหัดสำหรับเจริญสติ 32 วิธี

- ยิ้มน้อยๆ

- ปล่อยวาง-ผ่อนคลาย

- การหายใจ

- เจริญสติโดยอาศัยอิริยาบถ และการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย

- เพ่งพิจารณาสภาวะความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่ง

...ฯลฯ...
 
หนังสือ “ปาฏิหาริย์ของการตื่นอยู่เสมอ” ในยุคนั้นทำให้มีคนที่สนใจพุทธศาสนาที่ไปไกลกว่ารูปแบบของพิธีกรรม หรือความคิดวิจารณ์รวบยอดที่ว่า “จิตนิยม” แต่สุดท้ายของข้อสรุปของตัวเองในกรณีการนำเอาเนื้อหาของพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ถูกจริตกับรูปแบบ และวิธีการสอนของพระปฏิบัตินามว่า “หลวงพ่อเทียน”  ข้อสรุปของคำสอนของหลวงพ่อเทียน ท่านสรุปว่า “ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไม่เห็นความคิด” และการทำให้คนเราได้เห็น “ความคิด” ตามคำแนะนำสั่งสอนของท่านคือ การเจริญสติโดยวิธีการเคลื่อนไหว
 
ท่านกล่าวว่า เพราะ “ความคิดเป็นธรรมชาติทางนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิต และจิตวิญญาณของเรา เราคุ้นเคย และอยู่กับความคิดเกือบตลอดเวลา แต่เราแทบจะไม่รู้จักความคิด และกลไกการทำงานของมันในตัวเราเลย ทั้งนี้ เนื่องจากความคิดนั้นมีความเร็วกว่าแสงฟ้าแลบ และไหลต่อเนื่องเหมือนสายน้ำ ความคิดมี 2 ประเภท ความคิดชนิดหนึ่งมันเกิดขึ้นมาแวบเดียวมันไปเลย ความคิดชนิดนี้มันนำโทสะ โมหะ โลภะ เข้ามา ความคิดอีกอย่างหนึ่ง เป็นความคิดที่เราตั้งใจคิดขึ้นมา ความคิดชนิดนี้ไม่นำโทสะ โมหะ โลภะ เข้ามา เพราะความคิดชนิดนี้เราตั้งใจคิดขึ้นมาด้วยสติปัญญา “ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไม่เห็นความคิด
 
แต่ตัว “ความคิด” จริงๆ นั้นมันไม่ได้มีความทุกข์ สาเหตุที่มันมีความทุกข์เกิดขึ้นคือ เมื่อเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจความคิดอันนั้น มันก็เลยเข้าไปในความคิด เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป แล้วมันก็นำทุกข์มาให้เรา เมื่อเราไม่รู้วิธีแก้ไข มันก็คิด คิดอันนั้น คิดอันนี้ คนเราจึงอยู่ด้วยทุกข์ กินด้วยทุกข์ นั่งด้วยทุกข์ นอนด้วยทุกข์ ไปไหนมาไหนด้วยทุกข์ทั้งนั้น เอาทุกข์นั่นแหละเป็นอารมณ์ไป แต่ถ้ามาเจริญสติให้รู้เท่าทันความคิด พอดีมันคิดปุ๊ป..ทันปั๊บ คิดปุ๊บ..ทันปั๊บ มันไปไม่ได้ มันจะทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงที่ตรงนี้ ความเป็นพระอริยบุคคลจะเกิดขึ้นที่ตรงนี้ หรือเราจะได้ต้นทาง หรือกระแสพระนิพพานที่ตรงนี้
 
สติ หมายถึง ความระลึกได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ “ให้รู้สึกตัว” ให้รู้สึกตัวในการเคลื่อนการไหว กะพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ การเคลื่อนไหวเป็นสาระสำคัญของการเจริญสติ ถ้าหากเรานั่งนิ่งๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว พอดีมันเกิดขึ้นมา เราก็เลยไปรู้กับความคิด มันเป็นการเข้าไปอยู่ในความคิด เพราะไม่มีอะไรดึงไว้ ดังนั้น จึงมีการฝึกหัดการเคลื่อนไหวของรูปกาย ให้รูปกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอ”
 
“ถ้าเรามีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของรูปกาย เมื่อใจคิดขึ้นมา เราจะเห็น เราจะรู้ เพื่อให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ ท่านได้แนะนำให้เราเคลื่อนไหวตลอดเวลา และ “รู้” การเคลื่อนไหวนั้น โดยมีกลอุบาย หรือเทคนิคในการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยการเดินจงกรม และการเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ”
 
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ แทบพูดได้ว่าท่านเป็นพระบ้านนอก ไม่ได้แตกฉานภาษาบาลีสันสกฤตมากนัก เดิมท่านชื่อ พันธ์  อินทผิว เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2454 ที่บ้านบุฮม ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย หลวงพ่อได้ละสังขาร ณ ศาลามุงแฝกบนเกาะพุทธธรรม สำนักปฏิบัติธรรมทับมิ่งขวัญ รวมอายุท่านได้ 77 ปี และได้ใช้เวลาอบรมสั่งสอนธรรมะแก่คนทั้งหลายเป็นเวลา 31 ปี พรรษานี้รำลึกถึงท่านผู้มีคุณูปการต่อชีวิตนามหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ครับ.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น