ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พ่อเมืองสงขลา เปิดบ้านต้อนรับคณะทัศนศึกษานักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 61 พร้อมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับทิศทาง และศักยภาพของ จ.สงขลา ระบุรายได้ของ จ.สงขลา ขึ้นอยู่กับสาขาอุตสาหกรรมเป็นหลัก และประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 5 ของภาคใต้
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมต้อนรับพร้อมบรรยายพิเศษแก่ที่ปรึกษาโครงการอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) คณะอาจารย์ และคณะนักศึกษาหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 61 จำนวน 120 คน ในโอกาสทัศนศึกษาดูงานภายในพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งคณะนักศึกษาได้เดินทางมาศึกษาดูงานท่าเรือน้ำลึก อ.สิงหนคร และดูงานการค้าชายแดน เยี่ยมชมร้านสินค้าปลอดภาษี อ.สะเดา ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2556 พร้อมรับฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ศักยภาพและทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา”
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จ.สงขลา มีประชากร 1,496,000 คน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ปี 2554 มีมูลค่าเท่ากับ 214,799 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงสร้างการผลิตของ จ.สงขลา ขึ้นอยู่กับสาขาอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 26.03 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สาขาการผลิตที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์ การป่าไม้ และสาขาการขายส่ง ขายปลีก โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรใน จ.สงขลา ปี 2554 เท่ากับ 164,513 บาทต่อปี เป็นอันดับที่ 5 ของภาคใต้ รองจากภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพังงา และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้
จ.สงขลา เป็นประตูสู่อาเซียนทางตอนใต้ อยู่ใกล้กลุ่มอาเซียนที่มีฐานะดี ประกอบด้วยประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรรวม 360 ล้านกว่าคน สงขลาเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดของประเทศ โดยมีมูลค่ารวม 486,820.48 ล้านบาทต่อปี
สำหรับแผนการพัฒนา จ.สงขลา นั้น ได้มีการวางแผนการพัฒนาและแก้ไขปัญหา โดยแบ่งพื้นที่จังหวัดเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่
1.พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มี 4 อำเภอ คือ อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.สิงหนคร พื้นที่ส่วนมากเป็นที่นา โดยมีการแบ่งพื้นที่การพัฒนาทั้งพื้นที่นาข้าว และพื้นที่นากุ้ง
2.พื้นที่เศรษฐกิจ มี 3 อำเภอ คือ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา และ อ.เมืองสงขลา มีการวางระบบโครงข่ายขนส่งคมนาคม ทั้งระบบราง อากาศ และทางน้ำ
3.พื้นที่การพัฒนาด้านเกษตรอื่นๆ มี 5 อำเภอ คือ อ.นาหม่อม อ.ควนเนียง อ.บางกล่ำ อ.รัตภูมิ และ อ.คลองหอยโข่ง โดยการส่งเสริมศักยภาพทางด้านการเกษตร
4.พื้นที่ด้านความมั่นคง มี 4 อำเภอ คือ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ใช้โครงการเกษตรอาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริฯ การใช้มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยการเปิดโอกาสให้ผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้หลงผิดสามารถกลับใจมามอบตัว ให้ข้อมูลภาครัฐ และเข้าสู่กระบวนการตามที่ราชการกำหนด และอำนวยความเป็นธรรม และการเยียวยาให้แก่ผู้ประสบเหตุ หรือผู้ได้รับผลกระทบ