xs
xsm
sm
md
lg

เชิญชม “ว่านเพชรหึง” กล้วยไม้ใหญ่ที่สุดในโลกออกดอกสะพรั่งแค่ปีละ 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - “ว่านเพชรหึง” กล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 1,200 ต้น ภายในศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงตรัง พร้อมใจกันออกดอกให้ชมความสวยงาม เป็นระยะเวลาเพียงแค่ปีละ 3 เดือน ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ได้ขยายต้นกล้าว่านเพชรหึง โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปแล้ว จำนวน 2 หมื่นต้น เพื่อให้ประชาชนนำไปปลูกเพื่อตัดดอกขายเชิงการค้า

นายเสนอ รัตนสำเนียง ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) จังหวัดตรัง กล่าวว่า ว่านเพชรหึง หรือที่ชาวปักษ์ใต้รู้จักกันในชื่อว่านหางช้าง นั้น อันเนื่องจากมีลักษณะลำต้นที่ยาว และมีใบติดอยู่ที่ปลายหลายใบ คล้ายๆ กับปลายหางของช้างที่ชี้ขึ้นด้านบน โดยมีลักษณะเด่นคือ รากมีจำนวนมากเกาะแน่น และแตกเป็นแขนงที่ปลายราก จนถือเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก จัดอยู่ในสกุลแกรมมาโทฟิลลัม (Grammatophyllum) เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ มีระบบรากอากาศ และมีลำต้นสูง ส่วนดอกก็จะมีทั้งชนิดช่อตั้งและช่อห้อย โดยกลีบดอกนั้นจะหนา มีพื้นกลีบสีเหลือง หรือเหลืองอมเขียว และยังมีแต้มสีน้ำตาลหรือม่วง คล้ายกับลวดลายของเสือ ซึ่งจะมีดอกประมาณช่อละ 75-125 ดอก

ทั้งนี้ นอกจากทางศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงจังหวัดตรัง จะดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ว่านเพชรหึงแล้ว ยังได้มีการปลูกไว้กระจายเรียงรายสองข้างทางเป็นจำนวนมากถึง 1,200 ต้น โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าสำนักงาน และศูนย์ฝึกอบรม กระทั่งปัจจุบันแต่ละต้นมีอายุตั้งแต่ 5-10 ปีแล้ว จนถือเป็นแหล่งรวบรวมกล้วยไม้พันธุ์นี้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมักจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี แต่จะต้องมีอายุ 5 ปีขึ้นไป ถึงจะออกดอกให้ชมความสวยงามได้ ทั้งนี้ ดอกจะทยอยบานตั้งแต่ชั้นล่างสุดไปจนถึงชั้นบนสุด เป็นระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน หลังจากนั้นจะต้องรอชมความงามอีกครั้งในปีถัดไป

ปัจจุบัน ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงจังหวัดตรัง ได้ขยายต้นกล้าว่านเพชรหึง โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปแล้ว จำนวน 2 หมื่นต้น ในเนื้อที่กว่า 10 ไร่ เพื่อหวังจะให้ประชาชนนำไปปลูกเพื่อตัดดอกขายเชิงการค้า รวมทั้งปลูกในสถานที่ต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเวลาออกดอกพร้อมๆ กันแล้วจะสวยงามมาก ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถมาชม หรือถ่ายภาพภายในศูนย์ฯ ได้ฟรี ในวันเวลาราชการ ซึ่งกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของจังหวัดตรัง โดยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่หมู่ 11 ในเขตเทศบาลตำบลโคกหล่อ หรือเข้ามาทางสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดตรัง และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-7558-2312


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น