xs
xsm
sm
md
lg

นศ.วิศวะ ม.อ. คว้าอันดับ 11 การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ROBOCUP EINDHOVEN 2013

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักศึกษาวิศวะ ม.อ. คว้าอันดับ 11 จากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ROBOCUP EINDHOVEN 2013 ที่เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมี 21 ทีม จากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขัน

นักศึกษาสาขาเมคาทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้เข้าร่วมแข่งขัน World RoboCup @home 2013 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556-2 กรกฎาคม2556 ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และราคาประหยัด สำหรับรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวมีหลายประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์เตะบอล (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์ระบุที่อยู่ผู้ประสบภัย (RoboCup Rescue) และหุ่นยนต์รับคำสั่งในบ้าน (RoboCup@Home) เป็นต้น จากการสรุปผลการแข่งขัน ทีมดงยาง ม.อ. ได้ผ่านเข้ารอบ 2 และได้อันดับที่ 11 จาก 21 ทีมทั่วโลก

รศ.ดร.พฤทธิกร สมิตไมตรี กล่าวว่า สมาชิกทีมดงยาง ประกอบด้วย นายพงศกร ชาญชัยชูจิตร, นายพีรยุทธ แซ่โค้ว, นายอันวาร์ ราชาวนา, นายทศพร คงสุจริต, นายพิชัย บ่มไล่ และนายเอกสิทธิ์ กาญจนแก้ว โดยมี รศ.ดร.พฤทธิกร สมิตไมตรี และ ดร.วฤทธิ์ วิชกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ปี 2555 “Thailand Robot Championship 2012” ประเภทหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับเกียรติเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ROBOCUP EINDHOVEN 2013

“จากผลการแข่งขัน ROBOCUP EINDHOVEN 2013 เราทำเต็มที่สุดความสามารถ สรุปผล RoboCup 2013 เราผ่านเข้ารอบ 2 ได้ที่ 11 จาก 21 ทีมทั่วโลก เราแข่งขันครบทุกภารกิจ ทางทีมทำหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น พัฒนาตัวเองมากขึ้น และเราจะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง จะนำประสบการณ์ที่ได้ในครั้งนี้กลับไปพัฒนาตนเอง รุ่นน้อง และวงการหุ่นยนต์บ้านเราให้ดีขึ้น ซึ่งผมมั่นใจว่าเราทำได้” รศ.ดร.พฤทธิกร สมิตไมตรี กล่าว

ด้าน นายพงศกร ชาญชัญชูจิต หัวหน้าทีม กล่าวเพิ่มเติมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของการแข่งขัน ว่า สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้าแข่งขันหุ่นยนต์เวิลด์ โรโบคัพปี 2013 เริ่มต้นเตรียมตัวจากการสร้างหุ่นยนต์สำหรับเข้าร่วมการแข่งขัน โดยในการแข่งขันจะมีกติกาที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะนำเอากติกาในปีก่อนหน้ามาเป็นเกณฑ์ จากนั้นคณะกรรมการการแข่งขันจะร่วมกันออกกติกาใหม่ๆ รวมทั้งปรับกติกา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่จะใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ ความยากก็จะพัฒนาขึ้นในทุกๆ ปี ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมหุ่นยนต์ให้พร้อมที่จะสามารถทำงานได้ตามกติกาที่ถูกตั้งขึ้น

 
 





กำลังโหลดความคิดเห็น