xs
xsm
sm
md
lg

ส่อเค้าบานปลาย! สภาอุลามาอ์อัลฟาฏอนีย์ หวังยึด “บ่อน้ำเชคดาวูด” แยกสาธารณสมบัติออกจากชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ส่อเค้าบานปลาย! สภาอุลามาอ์ อัลฟาฏอนีย์ มูลนิธิ หวังใช้อำนาจกฎหมายที่ดินเข้ายึดครองบ่อน้ำเชคดาวูด สาธารณสมบัติของชุมชนปาเระ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ และเป็นหมู่บ้านเกิดของเชคดาวูดบินอับดุลลอฮ อัลฟาฏอนีย์ นักปราชญ์ชื่อดังของแหลมมลายู ขณะที่ชาวบ้านระบุการกระทำดังกล่าวผิดหลักการอย่างเห็นได้ชัด

 
วันนี้ (13 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปัตตานี ว่า จากกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนบ้านปาเระ กับสภาอุลามาอ์อัลฟาฏอนีย์ มูลนิธิในการครอบครองดูแลจัดการบ่อน้ำเชคดาวูด บินอับดุลลอฮ อัลฟาฏอนีย์ ที่มีอยู่คู่กับชุมชนบ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี มายาวนาน โดยหลังจากที่ทางสภาอุลามาอ์ฯ ได้นำเงินบริจาคมาซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำดังกล่าว แล้วอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ จึงกลายเป็นประเด็นวิพากษ์ระหว่างกัน จนทำให้นายอภิรัฐ สะมาแอ นายอำเภอเมืองปัตตานี ต้องลงมายุติปัญหาด้วยตัวเอง แต่ทางสภาอุลามาอ์ฯ ก็ยังไม่ยุติบทบาทในการพยายามเข้าแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของบ่อน้ำดังกล่าว

โดยล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางสภาอุลามาอ์ฯ ได้จ้างคนในพื้นที่ จำนวน 2 คน นำป้ายผ้ายางที่เขียนด้วยหมึกสีแดงเป็นภาษาไทย นำมาแขวนไว้บริเวณบ่อน้ำเชคดาวูด เพื่อประกาศห้ามไม่ให้ชาวบ้านก่อสร้างต่อเติมบ่อน้ำในบริเวณแปลงที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นที่ดินนิติบุคคล ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันบูรณะบ่อน้ำดังกล่าว เพื่อเป็นการปกป้องดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน


 
ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องมีการบูรณะนั้น เนื่องจากทางสภาอุลามาอ์ฯ ได้ดำเนินการถมที่ดินในบริเวณรอบๆ บ่อน้ำจนเกือบมิดขอบบ่อ เหลือพื้นที่บ่อเพียง 10 ตารางเมตร เมื่อเกิดฝนตกน้ำก็ไหลเข้ามารวมภายในบ่อ ทำให้น้ำในบ่อมีสีเปลี่ยนไป ชาวบ้านจึงบูรณะบ่อน้ำเพื่อรักษาความสะอาดของน้ำ และอำนวยความสะดวกให้แขกที่เข้ามาเยี่ยมเป็นประจำทุกวันไม่ขาดสายให้ได้นำน้ำมาอุปโภคบริโภคได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้มีเจตนาที่จะยึดพื้นที่ของสภาอุลามาอ์แต่อย่างใด

ด้านนายอับดุลการ์ ฮามะ ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ความจริงบ่อน้ำนี้ได้มีการใช้มาคู่กับชุมชนบ้านปาเระมาอย่างช้านาน และที่ดินแปลงนี้ได้มีการซื้อขายมาหลายมือมาแล้ว แต่ไม่เคยมีปัญหากับชุมชน เพราะเขาไม่ได้หวังที่จะยึดบ่อน้ำดังกล่าวออกจากชุมชน จึงสามารถอยู่กันได้ เพราะสภาพดั้งเดิมเป็นสวนมะพร้าว เจ้าของที่เดิมเขามีหน้าที่เก็บลูกมะพร้าวเ ขาไม่ได้สนใจบ่อน้ำแต่อย่างใด แต่พอสภาอุลามาอ์ฯ ได้เข้ามาซื้อด้วยเงินบริจาคได้มีการตัดต้นมะพร้าว และต้นไม้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว แล้วน้ำดินมาถมให้สูงจากเดิมจนเกือบมิดขอบบ่อ รวมทั้งอ้างการสิทธิความเป็นเจ้าของบ่อด้วย

 
ขณะที่ นายยูโซ๊ะ เว๊าะเล๊ะ ชาวบ้านในพื้นที่อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอภิรัฐ สะมาแอ นายอำเภอเมืองปัตตานี พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนสมาชิก อบต. และรองนายก อบต.บาราโหม ได้มาพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว ภายในมัสยิดดารุสสลามเชคดาวูด อัล ฟาฎอนีย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.2 บ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อมาสอบถามความเห็นของชาวบ้านที่มีต่อบ่อน้ำดังกล่าว และได้ข้อสรุปเห็นพ้องกันแล้วว่า ควรที่จะให้ชาวชุมชนเข้ามาดูแลบ่อน้ำดังกล่าวดังเช่นในอดีต และทางอำเภอก็ได้รับเรื่องที่จะนำเรียนให้ทางสภาอุลามาอ์ฯทราบอีกทอดหนึ่ง

“ไม่เข้าใจว่าทางสภาอุลามาอ์ฯ อยากได้บ่อน้ำดังกล่าวเอาไปทำอะไร เพราะบ่อน้ำไม่เกี่ยวอะไรกับการตั้งสภาอุลามาอ์ฯ ทางสภาอุลามาอ์ฯ ได้จัดซื้อที่บริเวณแห่งนี้มีเนื้อที่สิบกว่าไร่ แล้วทำไม่ต้องมีปัญหากับที่ตั้งของบ่อน้ำนี้ที่มีเนื้อที่ไม่เกิน 10 ตารางเมตรด้วย ทั้งนี้ บ่อน้ำดังกล่าวอยู่ติดกับชุมชน ไม่ได้อยู่ติดกับถนน 4 เลน หรือถนนสายหลักแต่อย่างใด ไม่เหมือนที่ดินแปลงอื่นๆ ที่ทางสภาอุลามาอ์ฯ ได้จัดซื้อมาแล้วมีการถมเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว คนในชุมชนจึงสงสัยต่อพฤติกรรมดังกล่าว ว่า ตกลงทางสภาอุลามาอ์ฯ จะเข้ามาแสดงบทบาทในเรื่องของศาสนาซึ่งมีเรื่องมากมายที่ต้องเข้ามาดำเนินการ แต่กลับไม่เห็นดำเนินการในเรื่องให้เป็นรูปธรรม แต่กลับวุ่นวายกับน้ำเชคดาวูดฯ มานานหลายเดือน ยังหาข้อยุติไม่ได้เลย ซ้ำยังเอาป้ายมาปิดประกาศอีกต่างหากว่าเป็นที่นิติบุคคล แล้วที่ชาวบ้านเขาร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินดังกล่าวด้วยนั้นเอาไปไว้ไหน” ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเห็น

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า การขึ้นป้ายนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ดิน เพื่อที่จะเข้ามาพิสูจน์ทราบสิทธิในการครอบครองบ่อน้ำเชคดาวูดฯ หลังจากที่จัดทีมมาเจรจากับชาวบ้านไม่สำเร็จ โดยจะดำเนินตามกฎหมายที่ดินผ่านขั้นตอนของกระบวนการศาล จากนั้นจะใช้อำนาจศาลบังคับให้มีการทุบทิ้งบ่อน้ำที่ชาวบ้านได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ และจะดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการเข้ามาปกป้องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของเขาต่อไปเป็นรายๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงบ่อน้ำซึ่งเป็นที่วากัฟ หรือบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ของส่วนรวม และตามหลักการศาสนานั้นจะซื้อขายกันไม่ได้ แล้วสภาอุลามาอ์ฯ จะอ้างเพียงเอกสาร หรือโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมีสิทธิเหนือบ่อน้ำดังกล่าวได้เช่นไร


 
“บ่อน้ำเชคดาวูด” ตั้งชื่อตาม “เชคดาวูด บินอับดุลลอฮ อัลฟาฏอนีย์” นักปราชญ์ชื่อดังของแหลมมลายู ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่บ้านปาเระ ต.บาราโหม เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว โดยเป็นทั้งนักเขียน นักแปล และเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้โลกอาหรับรู้จักคำว่า “ฟาฏอนีย์” ซึ่งหมายถึงปัตตานี

สำหรับบ่อน้ำดังกล่าวนี้ เชคดาวูดเคยประกอบกิจวัตรประจำวันโดยการใช้น้ำจากบ่อ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของชุมชน และเป็นมรดกของชุมชนที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ และจากชื่อเสียงของเชคดาวูด ซึ่งเป็นที่ยอมรับในโลกมุสลิม โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคอาเซียน ทำให้ผู้คนเดินทางมาเยี่ยมชมบ่อน้ำดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น