xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบาราโหม ปัตตานี ร่วมบูรณะบ่อน้ำ “เชคดาวูด” อายุเกือบ 300 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ชาวบ้านบ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ร่วมกับบูรณะบ่อน้ำ “เชคดาวูด” อายุเกือบ 300 ปี เพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณให้อยู่คู่กับชุมชนสืบไป

วันนี้ (16 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณบ่อน้ำเชคดาวูด ตั้งอยู่ที่ ม.2 บ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้มีชาวบ้านในหมู่บ้านปาเระ ได้ออกมาร่วมตัวช่วยกันบูรณะบ่อน้ำดังกล่าวเพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ยังคงมีเหลือไว้ในชุมชนให้อยู่คู่กับชุมชนบ้านปาเระสืบไป หลังจากที่สภาพบ่อน้ำดังกล่าวมีสภาพที่เก่าแก่มีอายุรวมเกือบ 300 ปี ชาวบ้านจึงได้ออกมาช่วยกันบูรณะปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้ต่อไป

หลังจากที่เจ้าของที่ดินบริเวณรอบบ่อได้มีการถมดินเพิ่มสูง ทำให้ตะกอนไหลลงเข้าบ่อ ทำให้น้ำขุ่น ไม่ใสสะอาดเหมือนในอดีต ชาวบ้านจึงมีการก่ออิฐแดงเพิ่มขอบบ่อให้สูงขึ้นเพื่อรักษาสภาพน้ำให้ยังคงใส ป้องกันไม่ให้ตะกอน หรือเศษขยะตกเข้าไปในบ่อ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมในการที่จะนำน้ำดังกล่าวไว้บริโภคและอาบ

บ่อน้ำเชคดาวูด เป็นบ่อน้ำที่มีอยู่คู่กับชุมชนบ้านปาเระ อายุรวม 300 ปี สาเหตุที่เรียกน้ำเชคดาวูด เนื่องจากเป็นบ่อน้ำที่มีอยู่รวมสมัยกับ เชคดาวูด บินอับดุลลาฮ บินอิดริส เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2312 ซึ่งเป็นนักปราชญ์ปัตตานีมีชื่อเสียงทั่วโลก ในนามเชคดาวูด อัลฟาฎอนีย์ จึงได้ตั้งชื่อบ่อน้ำดังกล่าวเป็นบ่อน้ำเชคดาวูด ซึ่งท่านเชคฯ ได้เกิดในหมู่บ้านนี้ จึงทำให้มีประชาชนทั่วโลกเดินทางเข้ามาเป็นประจำ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนจะยังคงใช้กีตาบ หรือตำราที่ท่านได้เขียนขึ้นมาเป็นคู่มือการศึกษาวิชาอิสลามศึกษาตราบปัจจุบัน

การเข้ามาบูรณะบ่อน้ำฯ ในครั้งนี้เ พราะชาวบ้านเกิดความห่วงแหน ไม่อยากให้พรากจากชุมชนบ้านปาเระ เพราะบ่อน้ำฯ แห่งนี้นอกจากมีค่าทางประวัติศาสตร์ของปัตตานีแล้ว ยังเป็นบ่อน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค น้ำจากบ่อแห่งนี้เป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้ จึงยากในการที่แยกบ่อน้ำแห่งออกจากชุมชนนี้ได้ ถึงแม้สภาพปัจจุบันบ่อน้ำแห่งนี้จะอยู่ในที่ดินที่มีการครอบครองแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากบ่อน้ำได้เป็นบ่อน้ำสาธารณะโดยพฤตินัย และโดยนิตินัย เป็นที่จะรับรู้ของคนทั่วไปว่า บ่อนี้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถที่จะยึดครองโดยอ้างตามกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถือครองได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วยก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

ด้ายนายมูหามะ ดาโอ๊ะ ชาวบ้านที่ดูแลบ่อน้ำดังกล่าว ได้เปิดเผยว่า บ่อน้ำแห่งนี้ได้มีประชาชนเดินทางเข้ามาจากทั่วสารทิศ แต่น่าเสียดายที่หน่วยงานไม่ได้เข้ามาดูแลเลย โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญปล่อยให้บ่อน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม วันนี้ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันหางบประมาณจากผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคในระหว่างเข้ามาเยี่ยมชม นำเป็นงบประมาณในการบูรณะบ่อให้กลับมามีน้ำที่ใสสะอาดเหมือนในอดีต ไว้ต้อนรับให้แก่แขกผู้มาเยือนพร้อมที่จะดื่มน้ำเพื่อเป็นบารอกัต หรือสิริมงคล

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น