xs
xsm
sm
md
lg

อีกกี่ชีวิต? ที่ต้องดับสูญบนปลายด้ามขวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...เอกรักษ์ ศรีรุ่ง
 
…..รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 56
เหล่าชายชาติทหาร เลือกที่จะทำหน้าที่ปกป้องดูแลประเทศชาติ เก็บสิ่งของสัมภาระที่จำเป็น ภายในเต็นท์นอนของตนเอง พร้อมด้วยหัวใจที่เบิกบาน เพื่อเตรียมตัวกลับบ้านไปหาครอบครัวที่อยู่ไกลแสนไกล เนื่องจากเพิ่งได้รับช่วงผลัดพักจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 10 วัน

“ ..แม่...วันนี้ผมจะเดินทางกลับบ้านแล้วนะ ได้พัก 10 วัน แม่เอาอะไรไหมจากยะลา นนท์จะซื้อไปฝาก” คำพูดสุดท้ายของ ส.ท.อานนท์ บางศิริ หนึ่งในจำนวน 8 ทหารผู้กล้า ที่สละชีพตนเองในการปฏิบัติหน้าที่บนดินแดนปลายด้ามขวาน

...แม่หัวใจแทบสลาย หลังจากวางสายไปเพียง 1 ชม. เจ้านายของนนท์โทร.กลับมาบอกว่า ลูกชาย พลีชีพเพื่อชาติแล้ว และวางสายไป.

 
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.4021 อีกหลายนาย ต่างลนลานกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม และจำนวนกดชนวนระเบิด ขณะที่รถยนต์ลำเลียงพลแบบยูนิม็อก ซึ่งได้บรรทุกกำลังพล จำนวน 10 นาย ออกจากฐานปฏิบัติการบ้านแบหอ ม.2 ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขับผ่านบริเวณดังกล่าว เพื่อนำกำลังพลทั้งหมด ซึ่งเป็นผลัดพักการปฏิบัติงาน ไปส่งในตัวเมืองยะลา เพื่อเดินทางกลับบ้านสู่อ้อมอกของครอบครัว

แต่แล้วเสียงระเบิดที่แผดดังลั่นผืนป่า ส่งผลให้ชายชาติทหาร 10 นาย ที่อยู่บนรถคันดังกล่าว ถูกแรงอัดระเบิดร่างลอยละลิ่วไปคนละทิศละทาง รถยนต์ลำเลียงพลของกองทัพถูกแรงอัดระเบิดฉีกขาดเป็นเศษเหล็กในพริบตา จากนั้น เสียงปืนก็ดังตามมาเป็นชุดๆ

สิ้นเสียงปืน และฝุ่นควัน เจ้าหน้าที่ทหารอีกชุดที่ขับรถยนต์หุ้มเกราะนำหน้า ต่างรีบเร่งหาผู้รอดชีวิตที่หลงเหลือ เสียงโอดร้อง ครวญครางจากความเจ็บปวดของทหารอีก 2 นายที่รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ ส่งเสียงตอบรับขอความช่วยเหลือ ชาวบ้านอีก 2 คน ล้มลงกองกับถนนไม่เป็นท่า จากแรงอัดของอานุภาพระเบิดทำลายล้าง เจ้าหน้าที่ทหารที่เหลือจึงช่วยกันนำตัวผู้บาดเจ็บ ส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน ส่วนที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ขอกำลังสนับสนุนเพื่อค้นหาร่างของผู้เสียชีวิต ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ในการปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ และตรวจสอบ พร้อมกับรายงานผลความสูญเสียที่แสนทรมาน

เจ้าหน้าที่ทหาร เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 8 นาย ข้าวของเสื้อผ้า กระเป๋าเป้ อาวุธปืน กระสุน เสื้อเกราะ กระจัดกระจาย ปะปนกับเศษอวัยวะ ชิ้นส่วนของทหารทั้ง 8 นาย เต็มถนน และรัศมีกว่า 30 เมตรของแรงระเบิด

 
อ.กรงปินัง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่การเคลื่อนไหวก่อเหตุของกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดน และผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 56 เกิดเหตุแล้วหลายครั้ง เหตุการณ์ที่เป็นข่าวครึกโครม และแสดงถึงความล้มเหลวในแก้ไขปัญหาของภาครัฐ

เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ เมื่อวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 56 คนร้ายก่อเหตุบุกจับพ่อค้ารับซื้อผลไม้ พร้อมลูกน้องมัดมือไขว้หลังก่อนจ่อยิง เสียชีวิต 4 คน กลางดึก เหตุเกิดริมถนนสาย 410 ยะลา-เบตง ห่างจากที่ว่าการอำเภอกรงปินัง และสถานีตำรวจภูธรกรงปินัง ไม่ถึง 1 กิโลเมตร กลุ่มคนร้ายก่อเหตุขณะที่เถ้าแก่รับซื้อผลไม้จากจังหวัดระยอง และอุบลราชธานี รวม 7 คน กำลังนั่งรับประทานอาหาร และบางคนก็กำลังนอนพักผ่อนอยู่ภายในร้านรับซื้อผลไม้ที่เช่าไว้ติดกับสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.กรงปินัง คนร้าย 6-7 คน พร้อมอาวุธปืนครบมือ ขับรถยนต์มาจอด จากนั้นกลุ่มคนร้ายได้เดินมาหลังร้าน แล้วจับเถ้าแก่พร้อมภรรยา และลูกน้องทั้ง 4 คน มัดมือไขว้หลังก่อนจ่อยิงจนเสียชีวิต จากนั้นกลุ่มคนร้ายได้รื้อค้นทรัพย์สินภายในร้านจนกระจัดกระจาย โดยคนร้ายใช้เวลาก่อเหตุไม่นาน รีบพากันขึ้นรถหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 
ต่อมา วันที่ 3 เมษายน 56 เวลาประมาณ 18.50 น. คนร้ายได้กดชนวนระเบิดที่ฝังไว้ใต้ผิวถนน บริเวณหน้ากุโบว์ บ้านลือมุ ม.8 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารสังกัดงานกิจการพลเรือน ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ร.15 พัน.1 ซึ่งเดินทางโดยรถบัส กลับจากตั้งหน่วยคัดเลือกทหารเกณฑ์ ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ส่งผลให้ จ.ส.อ.บุญเลี้ยง ไชยชนะ อายุ 50 ปี ซึ่งเป็นพลขับ เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 18 นาย

และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 56 เกิดเหตุระเบิดบนถนนสายกรงปินัง-บ้านลือมุ หน้ากุโบร์ลือมุ หมู่ 8 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะที่รถยนต์หุ้มเกราะ ตราโล่ของสถานีตำรวจภูธรกรงปินัง นำโดย ร.ต.อ.สะมะแอ ลือแม รอง สวป.สภ.กรงปินัง และลูกน้องอีก 7 นาย ออกลาดตระเวนรักษาความปลอดภัย ตามแผนการปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และลาดตระเวนเส้นทาง ซึ่งคนร้ายก็กดชนวนระเบิด ขณะรถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่วิ่งผ่านไปยังจุดเกิดเหตุ เป็นเหตุให้ ร.ต.อ.สะมะแอ ลือแม รอง สวป.สภ.กรงปินัง ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนตำรวจอีก 7 นาย ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด

ในที่เกิดเหตุพบหลุมระเบิดกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร มีรถยนต์ตราโล่พลิกคว่ำอยู่ที่ปากหลุม สภาพพังยับเยิน โดยคนร้ายนำระเบิดซุกไว้ในท่อน้ำที่ลอดใต้พื้นผิวถนน ก่อนที่จะลากสายยาวเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อจุดชนวนระเบิด คาดว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังดับเพลิง 2 ลูก น้ำหนักรวมประมาณ 30 กก. จุดชนวนด้วยแบตเตอรี่

 
ระยะเวลาห่างกันเพียง 10 วัน ในเช้ามืดของวันที่ 29 มิถุนายน 56 คนร้ายก็ก่อเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.4021 ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน หลังจากเข้าช่วงพักปฏิบัติงานเป็นเวลา 10 วัน ทำให้กองทัพต้องสูญเสียทหารไปอีก 8 นาย

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยระเบิดแสวงเครื่องที่กลุ่มคนร้ายประกอบขึ้นเอง และขุดเจาะซุกซ่อนไว้ใต้ผิวถนน ใต้ท่อน้ำที่ลอดผ่านใต้ถนน ยังคงเป็นปัญหาที่หน่วยงานความมั่นคงยังไม่สามารถแก้ไข และป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นได้ และยังคงเกิดเหตุขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อภาครัฐ

ช่วงระยะเวลาเพียง 6 เดือน ของต้นปี 2556 ก่อนจะเข้าสู่เดือนอันประเสริฐของพี่น้องผู้นับถือศาสนาอิสลาม พื้นที่ชายแดนใต้ยังคงร้อนระอุ เป็นเปลวไฟที่ไม่ยอมมอดดับ แม้ทางรัฐบาลจะออกมาเดินหน้าแก้ไขปัญหา และทุ่มงบประมาณอันมหาศาลลงมาในพื้นที่ปรับทั้งเชิงรุก และเชิงรับกันแทบทุกเดือน

 
ขณะเดียวกัน ชาวใต้ก็ยังคงมีความหวัง หลังจากที่มีการหยิบยกเอาการพูดคุยสันติภาพ กับกลุ่มขบวนการที่อ้างว่า สามารถสั่งการกลุ่มก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ จนแล้วจนรอด ตั้งแต่เปิดโต๊ะเจรจาปาหี่ ครั้งแรก จนครั้งล่าสุด 19 มิถุนายน 56 ที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พี่น้องประชาชน จนถึงเด็กไร้เดียวสาตาดำๆ กี่รายแล้วที่บาดเจ็บล้มตาย หลังมีการพูดคุยสันติภาพ

ในข้อมูลเชิงลึก ข้าราชการ หน่วยงานในแต่ละสังกัด ยังรวมไปถึงประชาชนบางส่วนที่เข้าถึงหน่วยงานของรัฐ ได้รับรู้ถึงความอัปยศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าความจริงแล้ว การปฏิบัติการไม่ได้มีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เป็นเพียงถ้อยคำที่ถูกเขียนบัญญัติไว้ให้พูดว่าหน่วยงานในพื้นที่มีการจับมือกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ถูกมองข้ามในการพูดคุยสันติภาพครั้งแรก จนมีการทักท้วง เพื่อขอเข้ามามีส่วนร่วมในการชี้แจ้งข้อมูล เกี่ยวกับพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งมา และปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อดับไฟใต้มานาน จนได้มีตัวแทนของกองทัพภาค 4 เข้าร่วมคณะพูดคุยในครั้งถัดมา

แต่กระนั้นก็ตาม ข้อมูลการพูดคุยสันติภาพก็ไม่ส่งถึงมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงรุก ผู้ปฏิบัติงานเชิงรุกไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลุ่มที่อ้างเป็นผู้บ่งการสถานการณ์ชายแดนใต้

 
ขณะที่หน่วยงานอย่าง ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่ สร้างความมั่นใจ สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน กลับเป็นผู้เดินเกมความมั่นคงในการเจรจากับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น โดยมีประเทศเพื่อนบ้านเปิดโต๊ะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้ขบวนการที่อ้างว่าสั่งการกลุ่มคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้พูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย ในการร้องขอให้ยุติการก่อเหตุรุนแรง

จนล่าสุด ข้อเรียกร้องจากกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ที่ได้เสนอต่อรัฐบาลไทย จำนวน 7 ข้อ คือ การให้ถอนกำลังหน่วยทหารออกจากพื้นที่ การให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง และเว้นการจำหน่ายแอลกอฮอล์ในช่วงของเดือนรอมฎอน และให้นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวถึงจะมีผล

9 ปี กับการพยายามดับไฟใต้ การพูดคุยสันติภาพจะเป็นผลหรือไม่ ขณะที่ทุกชีวิตในปลายด้ามขวานต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงในทุกวินาที หรือปัญหาไฟใต้จะมอดลงได้หรือไม่ ยังคงเป็นปมปัญหาที่ทุกฝ่ายยังหาทางออกไม่ได้....
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น