xs
xsm
sm
md
lg

“เสวนาบทบาทสื่อกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้” กอ.รมน.เผยเงื่อนไข 7 ข้อ BRN สื่อถึง ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กอ.รมน.แฉมีตัวละคร 3 ตัว ในสถานการณ์ชายแดนใต้ เงื่อนไขใหม่ 7 ข้อต้องการสื่อถึงประชาชน สปต.เผยประชาชนชายแดนใต้สิ้นหวัง เมื่อผู้ใหญ่ในกองทัพ และรัฐบาลพูดเลิกเจรจาเข้าทางกลุ่มคนร้าย

วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรม บี.พี.แกรนด์ ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พล.ต.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพกองทัพภาค 4 เปิดการเสวนาบทบาทสื่อกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ มีตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 80 คน และกล่าวว่า ตลอดเวลา 9 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภารกิจของทหารในชายแดนภาคใต้มีตลอด 24 ชม. สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ปรากฏเป็นความจริง ทำอย่างไรให้ปัญหาชายแดนภาคใต้เกิดสันติสุข

พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า จากการรวบรวมประวัติการต่อสู้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนร้าย เป็นการแบ่งแยกดินแดน การเปิดพื้นที่เจรจาได้เห็นตัวกระบวนการแท้จริง มีตัวแสดง 3 ตัวคือ คนของรัฐ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงสู่การปลอดปล่อยอำนาจรัฐ ตัวที่ 3 ที่อยู่ตรงกลางคือ ประชาชนเชื้อสายมลายู โดยใช้วิธีการต่างๆ โฆษณาชวนเชื่อ ให้คนกลางเกลียดชังรัฐ ขยายแนวร่วม ทำให้เกิดปัญหา 3 ปัญหาคือ ปัญหาในต้นน้ำ สร้างแนวคิดให้เกลียดชังรัฐสยาม และใช้วาทกรรมบิดเบือนในประวัติศาสตร์ ปลุกทั้งในและนอกระบบ ปัญหากลางน้ำขับเคลื่อนปัญหาไปสู่ปลายน้ำก่อความรุนแรง

พ.อ.ชินวัฒน์ กล่าวว่า เงื่อนไขใหม่ 7 ข้อของ ฮัสชัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น ต้องการสื่อถึงใครประชาชน จากภาษาที่ใช้ในสื่อในยูทิวบ์ กรณี 16 ศพที่ อ.บาเจาะ ยกย่องเป็นวีรบุรุษที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ของนายมะรอโซ ซึ่งเป็นคนพาคนไปตายที่ อ.ตากใบ เป็นกับดักของกลุ่มบีอาร์เอ็น

ด้าน นายวิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานจุฬาราชมนตรีภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ใต้เกิดจากการบิดเบือนของคนบางกลุ่ม จนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เอาเศษเสี้ยวของศาสนาเท่านั้น แก้ปัญหาที่ต้นน้ำด้วยเอาเด็กมาอบรมศาสนาที่มัสยิด 72 ชม.

 
ขณะที่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ใต้สื่อตกเป็นจำเลยสังคม เป็นเหยื่อของสถานการณ์ ที่กล่าวว่าสื่อผลิตซ้ำเพราะสื่อมวลชนต้องดำรงไว้ซึ่งวิชาชีพที่ต้องนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายงานให้สังคมทราบ แต่สื่อปัจจุบันพัฒนาไปมากที่นำเสนอมุมมองใหม่คือ ความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุการณ์

นายไชยยงค์ กล่าวว่า ในการพูดคุยเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับนายฮัสชัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น วันที่ 28 ก.พ.2556 ประชาชนชายแดนภาคใต้เป็นข่าวดี กำลังมีความหวังเกิดขึ้น จะได้เห็นสันติสุขเกิดขึ้นชายแดนใต้ เพราะการพูดคุยเท่านั้นคือทางออกของสถานการณ์ใต้ แต่มาสิ้นหวังเพราะผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์ในส่วนกลาง ทั้งฝ่ายกองทัพ และรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ บีอาร์เอ็นเผยแพร่ข้อเสนอใหม่ 7 ข้อผ่านยูทิวบ์ เพราะจะล้มเลิกการเจรจา ข้อเสนอใหม่รับไม่ได้ แต่สังคมใต้ยังไม่สิ้นหวังทั้งหมด ยังต้องการให้มีการเปิดพื้นที่เจรจาได้ เมื่อสังคมเล็กคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการพูดคุยต่อไป เพราะสังคมเล็กได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สังคมใหญ่ไม่ต้องการเจรจาจะเข้าทางกลุ่มคนร้าย

นายไชยยงค์ กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์ชายแดนภาคใต้มีตัวละคร 3 ตัว พระเอกคือ รัฐ ผู้ร้ายคือ ผู้ก่อการร้าย และตัวประกันคือ ประชาชน ตนเชื่อว่าเดือนรอมฎอนจะเป็นเดือนอันตราย ผู้ร้ายจะเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ดังนั้น รัฐอย่าด่วนตัดสินว่าไม่เอาการเจรจาสันติภาพเพราะเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ หากปล่อยให้บีอาร์เอ็นจะฉวยโอกาสสวมรอยจากข้อเสนอใหม่ 7 ข้อ ของ นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ นำความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่เรียกร้องมากนานมาเสนอต่อรัฐ แต่รัฐเมินเฉยมาตลอด

“ข้อเสนอใหม่ของบีอาร์เอ็น เป็นเงื่อนไข 7 ข้อใหม่ อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงต้องยอมรับว่ารัฐไทยพลาด จะแก้ปัญหาความผิดพลาดอย่างไร เพื่อให้ได้เปรียบในเวทีโลก กองทัพจะทำอย่างไร และอย่างให้เซลล์ใหม่เกิด และจะปกป้องอย่างไรเมื่อผู้นำศาสนาตาย 1 คน เหตุจะเกิดกับครู และพระหรือไม่ ให้หาแนวทางปลุกให้ประชาชนลุกขึ้นมากดดันผู้ก่อการร้ายบ้าง”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น