สตูล - จ.สตูล เปิดเวทีศึกษาผลกระทบการก่อสร้างอุโมงค์สตูล-ปะลิส ครั้งที่ 2 หลังผู้เข้าร่วมเลือกเส้นทางที่ 3 เพื่อหลีกผลกระทบทางธรรมชาติมากที่สุด
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมตะรุตา โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อ.เมือง จ.สตูล โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พร้อมกับ บจก.เอ็ม เอ เอ จำกัด บจก.ไทย เอ็ม เอ็ม จำกัด บจก.พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนชันเตนท์ จำกัด ได้จัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวงครั้งที่ 2 ระหว่าง ไทย (สตูล) กับ มาเลเซีย (รัฐปะลิส) ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนกว่า 200 คน เข้ารับฟัง
สำหรับในการประชุมในครั้งนี้ ผลการสรุปผลการคัดเลือกแนวทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวง เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย) ในระหว่างภูมิภาค ทั้งยังเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางยิ่งขึ้น ในองค์ที่ประชุม มี 3 เส้นทางให้เลือก
เส้นทางที่ 1 คือ แนวอุโมงค์ตัดผ่านที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร จุดสิ้นสุดโครงการบรรจบกับทางหลวง R144 ของรัฐปะลิส เส้นทางที่ 2 แนวอุโมงค์ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จนจุดสิ้นสุดโครงการบรรจบกับทางหลวง R121 ของรัฐปะลิส เส้นทางที่ 3 แนวอุโมงค์ฝั่งประเทศไทยเป็นทางเดียวกับทางเลือกทางที่ 2 โดยเส้นทางจะแยกจากกันทางฝั่งมาเลเซีย จนสิ้นสุดโครงการบรรจบกับทางหลวง R119 ของรัฐปะลิส
โดยผลสรุปจากการประชุมในเวทีการศึกษาผลกระทบครั้งที่ 2 ได้แสดงความคิดเห็น เลือกทางที่ 3 แนวอุโมงค์ฝั่งประเทศไทยเป็นเดียวกันกับทางเลือกที่ 2 โดยเส้นทางจะแยกจากกันทางฝั่งมาเลเซียจุดจบสิ้นสุดโครงการบรรจบกับทางหลวง R119 ของรัฐปะลิส เพราะดูพื้นที่เสี่ยงน้อยกับการรบกวนพื้นที่ป่าในอุทยานฯ
ทั้งนี้ ผลสรุปผลการคัดเลือกแนวทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวงครั้งที่ 2 ทาง 3 บริษัทจะต้องทำการศึกษาอีก เพราะต้องเชิญประชาชนเข้ามามีบทบาทในการรับฟังแนวคิดเสวนาอีก เพราะการประชุมมีเพียงหัวหน้าส่วนราชการเป็นส่วนใหญ่ เพราะเส้นทางที่ผ่านเข้าที่จังหวัดสตูลจะต้องผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องทำการประชุมผลกระทบการศึกษาสิ่งแวดล้อมอีกครั้งเพื่อไม่ให้ทำลายธรรมชาติมากที่สุด