ตรัง - สกย.ยอมรับนโยบายหนุนให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันไม่ค่อยได้ผล เหตุเกษตรกรส่วนใหญ่พอใจกับการปลูกยางพารามากกว่า เนื่องจากเคยชินมานาน และพื้นที่เหมาะสม
นายอาวุธ ประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จังหวัดตรัง กล่าวว่า แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทาง สกย.จะพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรชาวภาคใต้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางพารา ไปเป็นปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น โดยการให้ทุนสงเคราะห์สูงกว่าไร่ละ 1 หมื่นบาท ทำให้ปาล์มน้ำมันได้รับทุนสงเคราะห์เป็นไร่ละ 26,000 บาท ในขณะที่ยางพาราจะได้รับทุนสงเคราะห์แค่เพียงไร่ละ 16,000 บาท แต่ก็ยังมีเกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันค่อนข้างน้อย หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 1% หรือปีละ 300 ไร่เท่านั้น จากจำนวนยางพาราที่ขอรับการสงเคราะห์ประมาณปีละ 3 หมื่นไร่
โดยส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในอำเภอสิเกา วังวิเศษ และรัษฎา เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ใกล้กับโรงงานรับซื้อผลปาล์มน้ำมันรายใหญ่ ส่วนอีก 7 อำเภอที่เหลือของจังหวัดตรัง มีการมาขอปรับเปลี่ยนน้อยมากในแต่ละปี เพราะมีพื้นที่อยู่ไกลจากโรงงานรับซื้อผลปาล์มน้ำมันรายใหญ่ ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้ยากลำบาก เสียเวลาเพิ่มขึ้น และมีต้นทุนค่าน้ำมันสูง จึงทำให้เกษตรกรเหล่านั้นเกิดความไม่คุ้มค่า และเลือกที่จะขอรับทุนสงเคราะห์เพื่อปลูกยางพาราต่อไป เนื่องจากเป็นพืชผลทางการเกษตรที่ทำมานานจนมีความชำนาญดีอยู่แล้ว ขณะที่โรงงานรับซื้อยางพาราก็อยู่ใกล้บ้าน ทำให้เกิดความสะดวกในการขนส่ง และมีต้นทุนต่ำ
นอกจากนั้น ผลจากการที่ปาล์มน้ำมันในปี 2555 ที่ผ่านมา เกิดปัญหาราคาแกว่งตัวและตกลงมาอย่างฮวบฮาบ จากกิโลกรัมละ 4 บาท เหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 2-3 บาท ทำให้เกษตรกรในจังหวัดตรัง และในภาคใต้เกิดความเดือดร้อน จึงส่งผลให้ผู้ที่ปลูกยางพาราอยู่แล้วไม่อยากปรับเปลี่ยนไปขอรับทุนสงเคราะห์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งการขอรับทุนสงเคราะห์ไปเพื่อปลูกไม้ผลก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจเช่นกัน เนื่องจากราคาผลไม้ในปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาตกต่ำ และมีความไม่แน่นอน ขณะที่การดูแลก็ยุ่งยากมากกว่ายางพารา หรือปาล์มน้ำมัน อีกทั้งเมื่อตัดสินไปปลูกไม้ผลแล้ว จะปรับเปลี่ยนกลับมาขอรับทุนสงเคราะห์อีกครั้งไม่ได้