xs
xsm
sm
md
lg

กฟภ.รอกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดไฟเขียว ปิดโครงการวางเคเบิลใต้น้ำเกาะลิงบง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กฟภ.รอกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ไฟเขียวสร้างจุดแลนด์มาร์กระบุจุดวางสายเคเบิลใต้น้ำบนเกาะลิบง เพื่อทำให้ระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำเสร็จสมบูรณ์ หลังผ่านมา 2 ปีแล้ว

นายสุริยะ ประยูรยวง ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดตรัง กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ให้ กฟภ.ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำ ไปยัง 3 เกาะแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดตรัง ได้แก่ เกาะมุกด์ เกาะลิบง อำเภอกันตัง และเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน ด้วยวงเงิน 338 ล้านบาท ทั้งนี้ กฟภ.ได้ดำเนินว่าจ้างบริษัท INTERLINK CONSORTIUM ตามสัญญาเลขที่ จ.225/2552 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน เพื่อดำเนินการวางสายเคเบิลใต้น้ำไปยังทั้ง 3 เกาะดังกล่าว ส่วนระบบจำหน่ายไฟฟ้าบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ และบนเกาะ ทาง กฟภ.เป็นผู้ดำเนินการ

โดยเกาะมุกด์ มีผู้ใช้ไฟฟ้า 650 ราย ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 631 KW ระยะทางสายเคเบิลใต้น้ำ 7.2 กิโลเมตร จากจุดลงที่หาดฉางหลาง ไปยังจุดขึ้นที่ท่าเรือเกาะมุกด์ ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554

เกาะลิบง มีผู้ใช้ไฟฟ้า 406 ราย ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 652 KW ระยะทางสายเคเบิลใต้น้ำ 5.0 กิโลเมตร จากจุดลงที่บ้านมดตะนอย ไปยังจุดขึ้นที่แหลมโต๊ะชัย ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554

และเกาะสุกร มีผู้ใช้ไฟฟ้า 676 ราย ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 715 KW ระยะทางสายเคเบิลใต้น้ำ 4.3 กิโลเมตร จากจุดลงที่แหลมตะเสะ ไปยังจุดขึ้นที่หน้าโรงจักรดีเซล ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการจ่ายไฟฟ้าไปทั้ง 3 เกาะดังกล่าวมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่เฉพาะที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง ยังประสบปัญหาเรื่องการสร้างจุดแลนด์มาร์ก เพื่อบ่งบอกให้ผู้ที่สัญจรไปมาทางเรือรับทราบว่า มีการวางสายเคเบิลใต้น้ำเอาไว้ จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการแล่นผ่าน หรือการทอดสมอ จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าได้ แต่เนื่องจากบริเวณจุดที่จะดำเนินการสร้างจุดแลนด์มาร์ก เฉพาะบนเกาะลิบง ที่แหลมโต๊ะชัย อยู่พื้นที่แรมซาไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ มิฉะนั้น กฟภ.ก็อาจจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ฝ่ายการเกษตรและการท่องเที่ยว (ชุดเดิม) โดยเห็นชอบให้ผ่อนผันมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534, วันที่ 22 สิงหาคม 2543, วันที่ 17 ตุลาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เพื่อให้ กฟภ.สามารถเข้าไปสร้างจุดแลนด์มาร์กบนเกาะลิบงได้ แต่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และตามรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเล และระบบนิเวศป่าชายเลนในพื้นที่

สำหรับการก่อสร้างจุดแลนด์มาร์กบนเกาะลิบง ถือว่ามีความสำคัญ และความจำเป็นอย่างมากเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งต่อการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำ และการเดินเรือ ซึ่งหาก กฟผ.ได้รับหนังสืออนุญาตอย่างเป็นทางการมาจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อไหร่ ก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีการลงไปสำรวจพื้นที่ และทำรายงาน IEE เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ขณะที่งบประมาณที่ต้องใช้ประมาณ 200,000 บาท มีการเตรียมไว้แล้วเช่นกัน โดยจุดแลนด์มาร์กทั้ง 2 ฝั่ง จะมีขนาดฐานกว้างประมาณ 10X10 เมตร และสูงประมาณ 15 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างขึ้นในบริเวณที่โล่ง และมิได้มีกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อสิ่งแวดล้อม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น